เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 18 เมษายน 2562 - 09:32

มอเตอร์ไซค์ ขับเคลื่อนด้วยโซ่ สายพาน และเพลา แต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ? ไปหาคำตอบกัน

 

          ว่ากันด้วยเรื่องระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ ที่นิมยมใช้กันในแต่ละประเภทของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็น โซ่, สายพาน และ เพลา โดยจะมีข้อแตกต่าง และข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ครั้งนี้ BoxzaRacing ในคอลัมน์ความรู้เรื่องรถ ที่จะมาแชร์เกร็ดความรู้ให้แฟนๆ ได้ทำความเข้าใจในเรื่องของรถที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน และเราจะมาทำความเข้าใจกับระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นกันครับ

 

ระบบโซ่ขับเคลื่อน

 

          มาเริ่มกันที่ระบบขับเคลื่อนด้วย โซ่ กันก่อนเลยครับ โดย โซ่ นั้น เป็นระบบขับเคลื่อนที่เรียกได้ว่า...รถมอเตอร์ไซค์ใช้เยอะที่สุดเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่รถเล็ก หรือรถแม่บ้าน ไปจนถึง Superbike ราคาแพงเลยทีเดียว ด้วยเหตุแรกเพราะต้นทุนการผลิตนั้นถือว่าไม่สูงนัก แต่มีความแข็งแรงทนทาน บวกกับความสะดวกในการเปลี่ยนและดูแลรักษา ไปจนถึงการปรับแต่งอัตราทดได้อย่างง่ายดาย เพราะโซ่เป็นระบบขับเคลื่อนแบบเปิด ไม่มีแคร้งปิดเหมือนระบบเพลา แต่ข้อเสีย คือ มีเสียงดังรบกวนนิดหน่อยเวลาวิ่ง หรือปราศจากการดูแลที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะมีเศษหิน เศษดินเข้าไปอยู่ในโซ่ได้ง่ายมาก ด้วยเหตุนี้เหล่าไบค์เกอร์และผู้ใช้รถจึงต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดโซ่ด้วยน้ำยาล้าง และน้ำยาเคลือบโซ่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อรู้สึกว่าโซ่สกปรกหรือแห้งกร้านมากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ยืดอายุการใช้งานของโซ่ให้นานมากขึ้นครับ

 

ระบบสายพานขับเคลื่อน

 

          มาถึงระบบขับเคลื่อนอีกหนึ่งระบบ ที่เป็นที่นิยมในหมู่รถ Scooter, Big Scooter จนไปถึง Cruiser รุ่นใหญ่อย่างแบรนด์ Harley Davidson แต่ถ้าพูดถึงส่วนใหญ่แล้ว รถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนสายพานที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ คือ รถออโตเมติกขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปมีขนาดตั้งแต่ 110 ซีซี. จนไปถึง 300 ซีซี. ซึ่งจะมีแคร้งเป็นตัวปิดสายพานไว้เพื่อป้องกันหิน ดินและฝุ่น แต่ถ้าพูดถึงรุ่นใหญ่ที่ใช้สายพานขับเคลื่อนแบบเปิด แทนโซ่โดยตรงเลย ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ในรถ Cruiser ขนาดใหญ่ ที่มีพละกำลังที่สูง โดยข้อดีของสายพานเหล่านี้ คือ ความเงียบและฟีลลิ่งที่นุ่มนวล ซึ่งเป็นผลมาวัสดุที่ใช้ในการผลิต จึงเหมาะสำหรับรถ Cruiser หรือ Big Scooter ที่ต้องการขับขี่ท่องเที่ยวชิลล์ๆ เน้นความนิ่มนวล อีกทั้งหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขับขี่อย่างสุภาพ เรียบร้อย ไม่มีการกระชากบ่อยครั้ง ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของสายพานให้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วย 

 

 

          ในส่วนของข้อเสียของระบบสายพาน คือ ค่าบำรุงรักษาที่ค่อนข้างสูง และความซับซ้อนของการถอดเปลี่ยนอะไหล่นั้น ยากที่จะทำได้เอง หากฝีมือและความชำนาญยังไม่ถึงขั้น ดังนั้นควรทำโดยช่างผู้มีประสบการณ์เท่านั้น

 

ระบบเพลาขับเคลื่อน

 

          มาถึงระบบขับเคลื่อนสุดท้าย ที่ส่วนใหญ่ถูกติดตั้งให้ทำงานกับเหล่ารถมอเตอร์ไซค์ระดับพรีเมี่ยม ระบบเพลาขับเคลื่อน โดยหลักๆ แล้ว เจ้าระบบเพลาขับเคลื่อน เราจะไม่ค่อยพบเห็นกันมากนักเนื่องจากเป็นระบบขับเคลื่อนที่ต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะกลไกภายในที่ซับซ้อน จึงสามารถพบเห็นในตัวของรถมอเตอร์ไซค์ที่มีราคาสูง โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง BMW ที่มีการติดตั้งอย่างโดดเด่นมาตลอดให้กับเหล่ารถทรง Touring ขนาดใหญ่ หรือในแบรนด์รถญี่ปุ่นก็มีหลายๆ รุ่นที่มีการติดตั้งเพลาขับเคลื่อนเข้าไป ทำให้สองล้อเหล่านั้นดูมีคลาสขึ้นไม่เบา โดยข้อดีของระบบเพลาขับเคลื่อนนั่นก็คือ ต้องการการบำรุงรักษาในขณะที่ยังไม่ครบรอบการดูแลต่ำมาก เนื่องด้วยระบบเพลานั้นเป็นระบบปิด หากไม่มีการรั่วซึม ชำรุดในระบบ แทบจะไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับชุดเพลาเลย หรืออาจพูดได้ว่า อายุการใช้งานที่จะอยู่คู่กับรถไปจนกว่าจะพังจากกันเลยก็ว่าได้ หากมีการดูแลเปลี่ยนถ่ายของเหลวตามระยะที่กำหนด เหตุที่พูดแบบนี้ไปก็เพราะกลไกลภายในนั้น ถูกหล่อลื่นด้วยของเหลวอย่างน้ำมันเพลาท้ายตลอดเวลา และวัสดุภายในกลไกโดยส่วนมากจะเป็นวัสดุที่มีความทนทานสูง จึงทำให้กลไลภายในของระบบเพลาขับเคลื่อน มีการสึกหรอน้อยมากๆ

 

 

          ในส่วนของข้อเสียของระบบเพลาขับเคลื่อน คือ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้กลไลภายในระบบเพลาขับเคลื่อนชำรุด การที่จะหาสาเหตุของอาการย่อมต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าโซ่และสายพาน เนื่องด้วยความซับซ้อนของระบบและอะไหล่ที่ต้องสั่งพิเศษ เรียกได้ว่าพังทีเดียวจอดกันยาวเลยล่ะครับ และอีกหนึ่งข้อเสียที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์แบบเพลาขับเคลื่อนบ่อยๆ มักจะพูดถึงคือ ความจัดจ้านที่บางทีอาจไม่ตอบสนองมือให้กับผู้ขับขี่ที่มือหนักๆ ชอบทอร์คเยอะๆ เนื่องจากระบบเพลาขับเคลื่อนนั้น มีขั้นตอนในการส่งกำลังค่อนข้างหลายกระบวนการ กว่าจะทำให้ล้อหมุน จึงไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับสายโหดมากนัก แถมยังเป็นจุดเสี่ยงให้กับระบบกลไลของเพลาเมื่อเจอการทำงานที่เกิดจากการกระชากสูงที่ส่งแรงมาจากเครื่องยนต์ อาจทำให้ฟันเฟืองที่เป็นกลไกภายในเพลาเกิดความเสียหาย จนกลายเป็นอาการที่เรียกกันว่า เพลาล้ม ได้ครับ

 

 

          และนี่ก็คือ ข้อดี และ ข้อเสีย ของระบบขับเคลื่อนของรถมอเตอร์ไซค์ทั้ง 3 รูปแบบ ที่เราได้นำมาฝากในวันนี้ สำหรับท่านใดที่กำลังสงสัยว่าสุดท้ายแล้ว ระบบขับเคลื่อนแบบใดดีและทนทานที่สุด ในจุดนี้ผู้เขียนคงต้องบอกว่า...ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้ขับขี่นะครับ และในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำเรื่องราวและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสองล้อเรื่องใดมาฝากกันอีก รอติดตามได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน...สวัสดีครับ 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook