เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 1 มีนาคม 2562 - 16:17

MotoGP 2019 อัพเดทกติกาล่าสุด เติมความท้าทาย ดวลความเร็วได้ออกรสชาติขึ้นอีกขั้น

 

          เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล MotoGP อีกครั้ง ซึ่งก็เช่นเคยว่า มาพร้อมกับการอัพเดทและพัฒนาศักยภาพของรายการแข่งขันให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเน้นสร้างความปลอดภัยและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างสนุก สูสี ได้ความเสมอภาคในการแข่งขันกับทุกทีมแข่ง และครั้งนี้ BoxzaRacing ในช่วงความรู้เรื่องรถ จะมาอธิบายในเรื่องของการเปลี่ยนกฎกติกาเชิงเทคนิคและกติการะหว่างการแข่งขันของรายการแข่ง MotoGP 2019 ว่าในฤดูกาลนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามมาเลยครับ

 

การเปลี่ยนกติกาเชิงเทคนิค

 

1.การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์

 

          ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์นี้ จะมีผลกับการแข่งขันในรุ่น Moto2 โดยจากเดิมแล้วรถแข่ง Moto2 จะใช้เครื่องยนต์ของ Honda CBR600RR แบบ 4 ลูกสูบ แถวเรียง พิกัด 600 ซีซี. แต่เครื่องยนต์บล็อคใหม่ ที่จะนำมาใช้คือ เครื่องยนต์ 3 ลูกสูบ แถวเรียง ความจุ 765 ซีซี. ของ Triumph Street Triple 765 เรียกได้ว่าความจัดจ้านของขุมพลัง จะทวีคูณขึ้นในระดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ

 

2.จำนวนยางฝนที่สามารถใช้ได้ตลอดฤดูกาลแข่งขัน (Rain Tires)

 

          ยางฝน ที่มีไว้สำหรับการแข่งขันที่เจอสภาวะอากาศฝนตก พื้แทร็กเปียกชื้น โดยจะมีลักษณะหน้ายางที่มีดอก ไม่โล้นเหมือนยางสลิก แต่จะมีสมรรถนะในการรีดน้ำออกได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านการยึดเกาะอาจจะไม่เท่ายาง Slick โดยกฎใหม่ของจำนวนการใช้ยางฝน จะมีผลในรุ่นแข่งขัน MotoGP เท่านั้น โดยจากเดิมสามารถใช้ได้เพียง 11 เส้น ปรับเปลี่ยนมาให้สามารถใช้ได้ 13 เส้น โดยจะมียางหน้า 6 เส้น และยางหลัง 7 เส้น สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มจำนวนการใช้ยาง อาจจะด้วยสภาพอากาศปัจจุบันได้เปลี่ยนไป แถมการขับขี่ของนักแข่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอาจทำให้การใช้ยางแต่ละรูปแบบได้เกินพิกัดมากกว่าเดิมครับ

 

3.การเปลี่ยนแปลงในส่วนของ Aerodynamics ในรุ่นของ MotoGP

 

          หนึ่งในหัวใจสำคัญของรถแข่งในรุ่น MotoGP อีกหนึ่งสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลกับตัวรถเป็นอย่างมากคือ หลักอากาศพลศาสตร์ หรือ Aerodynamics ที่เข้ามาช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการรีดลมให้ไหลผ่านตัวรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันเราจะเริ่มพบเห็นการติดตั้งชิ้นส่วนพิเศษที่เรียกกันว่า Aeropart หรือปีกด้านหน้า สำหรับฤดูกาล 2019 เจ้า Aeropart หรือการเสริมแฟริ่งปีกนั้น จะต้องยึดติดตายกับแฟริ่งรถแข่ง ห้ามมีการถอดเข้า-ถอดออกตลอดฤดูการแข่งขันโดยเด็ดขาด โดยถ้ามีการถอดออก หรือเอามาปรับแต่งระหว่างฤดูกาลแข่งขัน จะถือว่าทำผิดกติกาโดยทันที นอกจากในส่วนของ Aerodynamics แล้ว ยังมีการจำกัดความกว้างของตัวรถแข่ง เพื่อไม่ให้มีขนาดที่ใหญ่เทอะทะหรือเกิดความเหลื่อมล้ำของแต่ละทีมแข่งขึ้นมา โดยกำหนดความกว้างของตัวรถสูงสุดไว้ที่ 600 มิลลิเมตร และส่วนด้านล่างของตัวรถกำหนดความกว้างไว้ไม่เกิน 550 มิลลิเมตร จึงทำให้ขนาดของตัวรถแต่ละทีมแข่งมีขนาดที่ไม่ต่างกันมาก

 

4.การบังคับใช้ IMU ในตัวรถแข่ง MotoGP

 

          เจ้า IMU หรือชื่อเต็มที่ย่อมาจากคำว่า Inertia Measurement Unit เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่วัดองศาการเอียง รวมถึงอาการและเสถียรภาพต่างๆ ของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก อัตราเร่ง หน้าที่ของอุปกรณ์ตัวนี้ จะบอกได้ว่าความสัมพันธ์ของการกระทำที่เกิดจากตัวรถทั้งหมดเป็นอย่างไร และจะถูกส่งค่าเหล่านี้ไปยัง ECU เพื่อประมวลผลเพื่อทำงานต่อไป โดยในฤดูกาลแข่งขัน MotoGP 2019 ทุกทีมแข่งในรุ่น MotoGP จะถูกบังคับให้ใช้ IMU ในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่มีในส่วนของการวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลของรถแข่งแต่ละคัน ซึ่งมีหลักสูตรเฉพาะของแต่ละทีมแข่ง เพื่อเน้นให้มีความเสมอภาคที่สุด ทำให้รถแข่งแต่ละทีมมีความสูสีกันมากขึ้นครับ

 

การเปลี่ยนกติการระหว่างการแข่งขัน

 

1.กติกาการจับเวลาในรอบการจัดอันดับ

 

          ในส่วนของการจับเวลา หรือจัดอันดับในการเข้าเส้นชัยของการแข่งขันในรายการ MotoGP นั้น กติกาที่เรียกได้ว่าเป็นสากลเลยก็ว่าได้ คือ การเข้าเส้นชัยเพื่อบันทึกเวลาต่อรอบหรือเอาชัยชนะนั้น ต้องให้ทั้งนักแข่งและรถแข่งเข้าพร้อมกัน จึงจะถือว่าสามารถบันทึกเวลาต่อรอบและจัดอันดับได้ แต่ถึงอย่างไรนั้น มีหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับนักแข่ง คือ การเกิดอุบัติเหตุก่อนที่จะถึงเส้นชัยทำให้ไม่สามารถบันทึกเวลาต่อรอบได้ ทำให้นักแข่งเสียโอกาสในการวิ่งจับเวลาในรอบควอลิฟาย จนกลายเป็นผลเสียที่ตามมามากมาย ดังนั้นในฤดูกาล 2019 ได้มีการเปลี่ยนกติกาใหม่ ในเรื่องของการจับเวลาในรอบคัดเลือกหรือรอบควอลิฟาย โดยถ้าเกิดอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันในรอบคัดเลือก การบันทึกเวลาต่อรอบ จะยังคงถูกบันทึกอยู่เหมือนเดิม ถึงแม้รถแข่งหรือตัวนักแข่งไถลเข้าเส้นชัย โดยที่ไม่ได้มาเข้าพร้อมกัน ทำให้ความเสมอภาคของนักแข่งทุกคนมีมากขึ้นครับ

 

2.นักแข่งสำรองในรุ่น Moto2 และ Moto3

 

          มาถึงในรุ่นของ Moto2 และ Moto3 กันบ้างครับ สำหรับกติกาของนักแข่งสำรองที่จะมาลงแข่งแทนนักแข่งตัวจริง ในกรณีที่นักแข่งตัวจริงเกิดอาการบาดเจ็บก่อนการแข่งขัน หรือบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จนไม่สามารถลงแข่งต่อได้ นักแข่งคนที่มาแทน จะต้องได้รับรองว่าเคยผ่านการแข่งขันในรายการอื่นๆ มาก่อน เพื่อประเมินทักษะว่าเหมาะสมสำหรับการเป็นตัวแทนของนักแข่งตัวจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในสนามแข่งต่อนักแข่งทีมอื่นๆ บวกกับการรักษามาตรฐานของทีมแข่งนั้นๆ ด้วย

 

3.การแซงขณะมีสัญญาณธงเหลือง

 

          ว่าด้วยเรื่องของธงเหลืองในการแข่งขันรายการ MotoGP หรือรายการของ Motorsport อื่นๆ ความหมายของเจ้าธงสีเหลือง คือ ด้านหน้าเกิดอุบัติเหตุ ให้นักแข่งที่กำลังตามมาลดความเร็วลง หรือยุติการแข่งขันชั่วขณะเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการเปลี่ยนกติกาในครั้งนี้ กล่าวถึงในเรื่องของการแซงขณะที่ขึ้นสัญญาณธงเหลือง แล้วยังมีการแซงเพื่อแย่งชิงอันดับของนักแข่งเกิดขึ้น โดยปกติแล้วทางคณะกรรมการจะทำการส่งข้อความเตือนไปยังหน้าจอของรถแข่งคันดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ครั้ง ระหว่างที่สัญญาณธงเหลืองยังคงโบกสะบัด แต่ในฤดูกาล 2019 ทางคณะกรรมการจะส่งข้อความเตือนไปยังรถแข่งที่ละเมิดสัญญาณเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยให้กับทุกฝ่ายที่อยู่ในสนามแข่ง

 

4.การเข้าสู่แทร็คอีกครั้งเมื่อนักแข่งหลุดจากแทร็ค

 

          โดยปกติแล้ว...ระหว่างการแข่งขัน เมื่อนักแข่งขี่รถหลุดจากแทร็ค ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตั้งแต่ขี่หลุดไลน์ออกไปเฉยๆ ไปจนถึงการเกิดอุบัติเหตุล้มลง ถ้านักแข่งประเมินสภาพตัวเองว่าสามารถกลับเข้าสู่แทร็คอีกครั้งได้ ก็สามารถเรียกมาแชลที่รอสแตนด์บายอยู่แต่ละตำแหน่งของสนาม ให้มาช่วยพยุงเพื่อนำรถเข้าสู่แทร็คได้เลย แต่ในฤดูกาล 2019 เมื่อนักแข่งหลุดออกจากแทร็ค การที่จะกลับเข้าสู่แทร็คได้นั้น จะต้องให้ทางคณะกรรมการของ MotoGญ เป็นผู้ที่ประเมินและตัดสินเองว่านักแข่งที่หลุดออกมาจากแทร็คไปแล้ว จะสามารถกลับเข้ามาในแทร็คได้เหมือนเดิมหรือไม่ ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม

 

5.การสตาร์ทเครื่องยนต์ของรถแข่ง

 

          เรื่องของความปลอดภัยในโซน Pit Stop นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการก่อประกายไฟ เรื่องของมลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง โดยในฤดูกาล 2019 ของการแข่งขันรายการ MotoGP ได้เพิ่มกติกาที่เข้มงวดในเรื่องของความปลอดภัยระหว่างการสตาร์ทวอร์มเครื่องยนต์ โดยมีข้อกำหนดไว้ว่า ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์ภายใน Pit เด็ดขาด ต้องนำรถออกมาด้านหน้านอก Pit เท่านั้น ถึงจะอนุญาตให้สตาร์ทเครื่องยนต์ได้ ในจุดนี้ที่ต้องเข้มงวดในตำแหน่งของการสตาร์ทเครื่องยนต์ เนื่องจากลดการก่อประกายไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมในด้านมลพิษทางอากาศและทางเสียง ที่ค่อนข้างจะอุดอู้ คละคลุ้งภายใน Pit เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ในแต่ละครั้ง

 

6.กติกาการใช้เครื่องปั่นไฟ

 

          ยังคงอยู่ในส่วนของกฎกติกาที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ระหว่างการทำงานใน Pit Stop เพื่อความปลอดภัยของทีมช่าง นักแข่ง และบุคลากรต่างๆ ที่อยู่ใน Pit โดยอีกหนึ่งกฎกติกาใหม่ คือ การใช้เครื่องปั่นไฟโดยทางคณะกรรมการของ MotoGP ได้กำหนดให้แต่ละทีมแข่งที่ใช้เครื่องปั่นไฟแบบพกพาที่สามารถถือเดินไปเดินมาใน Pit ได้ คือ กำหนดให้ใช้เครื่องปั่นไฟแบบพกพาที่มีกำลังไฟไม่เกิน 2 กิโลวัตต์ เท่านั้น

 

7.ข้อจำกัดของ Concession Point

 

          เราจะมาทำความเข้าใจอย่างง่ายกันก่อนครับ สำหรับคำว่า Concession Point คือ อะไร ? โดยเราจะแยกคำออกมา แปลความหมายที่เชื่อมโยงกับการแข่งขัน MotoGP เพื่อให้แฟนๆ ได้ทำความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยคำว่า Concession คือ ทีมแข่งโรงงานหน้าใหม่ ที่ยังทำผลงานไม่ดีมากนักซึ่งสำหรับฤดูกาลแข่งที่ผ่านมา ทีมแข่งน้องใหม่เหล่านี้ จะมีแต้ม Concession ต่ำกว่า 6 คะแนน แต่ได้รับสิทธิพิเศษ โดยจะมีข้อยกเว้นให้ คือ สามารถพัฒนาเครื่องยนต์ของรถแข่งได้ตลอดเวลา แถมยังสามารถนำมาวิ่งทดสอบในเวลาที่ไม่จำกัดจำนวนวันด้วยนักแข่งตัวจริง เพื่อที่จะสามารถผลักดันและพัฒนาสักยภาพของตัวนักแข่งและรถแข่งของทีมนั้นๆ ให้ขึ้นไปเทียบชั้นกับทีมแข่งหัวแถวชั้นนำได้ แต่การเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ในฤดูกาล MotoGP 2019 ถ้าเกิดว่าทีมแข่งหน้าใหม่ ไม่สามารถทำแต้ม Concession ได้ถึง 6 แต้ม ทางทีมแข่งดังกล่าวจะหลุดจากการเป็นทีม Concession โดยทันที และไม่มีสิทธิ์ใช้เครื่องยนต์เพิ่มเติม หรือพัฒนาเพื่อเทียบชั้นทีมแข่งที่อยู่หัวแถว สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงกฎกติกาให้เป็นเหมือนกับการคัดเลือกแบบนี้ ก็เพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำเชิงเทคนิค เพื่อให้ได้ความเสมอภาคระหว่างทีมชั้นนำและทีมน้องใหม่ครับ

 

 

          และนี่คือ การเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ในเชิงเทคนิคของการแข่งขัน MotoGP 2019 โดยการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาเชิงเทคนิค และกติการะหว่างการแข่งขัน จะเน้นไปเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพื่อการแข่งขันที่สูสีและเมามันส์มากขึ้นกว่าฤดูกาลที่ผ่านมา สำหรับสาวก MotoGP ฤดูกาลนี้...ห้ามพลาดแม้แต่สนามเดียวเลยนะครับ ในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำเกร็ดความรู้เรื่องไหนมาฝากกันอีก สามารถติดตามได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน...สวัสดีครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook