เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 9 สิงหาคม 2562 - 12:18

สวิงอาร์ม กับโปรอาร์ม ต่างกันอย่างไร และข้อดี-ข้อเสียของแต่ละแบบ มีอะไรบ้าง ไปทำความรู้จักกัน

 

          สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของรถ ที่บ่งบอกถึงการดีไซน์ออกแบบในสไตล์ของรถรุ่นนั้นๆ หลายคนอาจจะมองข้ามไปถึงของแต่งเทพๆ แต่อะไหล่ชิ้นส่วนที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ ถูกติดตั้งอยู่ในโซนของช่วงล่าง ที่ทำหน้าที่เป็นจุดยึดระหว่างล้อหลังกับตัวรถเข้าด้วยกัน พอจะเริ่มนึกออกแล้วใช่ไหมครับ นั่นก็คือ สวิงอาร์ม นั่นเอง โดยในวันนี้ BoxzaRacing ในช่วงความรู้เรื่องรถ จะมาพูดถึงเรื่องราวของสวิงอาร์มทั่วไป และสวิงอาร์มอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า โปรอาร์ม หรือ Single Side Swing Arm ว่าทั้ง 2 อย่างนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร และมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง เดี๋ยวเราไปทำความเข้าใจด้วยกันเลยครับ

 

 

          เราจะมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เจ้าสวิงอาร์ม และโปรอาร์มมีหน้าที่หลักๆ คือ อะไร ? โดยหน้าที่หลักๆ ของมัน คือ ทำหน้าที่เป็นจุดยึดระหว่างล้อหลังเข้ากับตัวรถอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และเป็นฐานหลักสำหรับยึดอะไหล่ช่วงล่างด้านหลัง เช่น โช้คอัพหลัง ระบบเบรกหลัง ไม่ว่าจะเป็นจุดยึดสายเบรก ปั๊มเบรก ดิสก์เบรก รวมไปถึงกลไลของสเตอร์หลัง ที่สำคัญต้องมีคุณสมบัติสามารถรับแรงและอาการจากการขี่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเกิดจากการเชนจ์เกียร์ กระชากคันเร่ง การรับน้ำหนักโดยการยุบตัวของโช้คหลัง และอีกหลายอาการที่ถูกถ่ายไปยังสวิงอาร์มหรือโปรอาร์ม  

 

ข้อดี ข้อเสีย ความแตกต่างระหว่างสวิงอาร์มและโปรอาร์ม

 

สวิงอาร์ม (Swing Arm)

Honda CBR1000RR SP

 

สวิงอาร์ม

 

          เรามาเริ่มพูดถึงความแตกต่างระหว่างสวิงอาร์มและโปรอาร์มกันเลยครับ เริ่มกันที่สวิงอาร์มกันก่อนเลย กับรูปทรงแขนคู่ที่ได้รับความนิยมที่สุด ตั้งแต่รถคลาสเล็ก จนถึงซูเปอร์ไบค์สมรรถนะสูง ด้วยความพิเศษ คือ การรับแรงทั้งหมดจะถูกกระจายไปยังแขนสวิงอาร์มทั้ง 2 ข้าง แถมในเรื่องของการเซอร์วิส ไม่ว่าจะเป็นการปรับตั้งระยะโซ่ที่เพียงคลายน็อตยึดเพลาและปรับตั้งระยะที่บริเวณหางปลาตั้งโซ่ให้ได้ระยะที่พอเหมาะพอควร ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี หรือจะเป็นการเซอร์วิสต์ระบบเบรกหลัง เช่น การเปลี่ยนผ้าเบรก ที่เพียงคลายน็อตยึดที่คาลิเปอร์ออกก็สามารถถอดปั๊มเบรกหลังออกมาได้แล้ว แต่ในด้านการถอดเข้า-ถอดออกล้อหลัง ก็ถือว่ายุ่งยากนิดหน่อย เพราะต้องคลายน็อตยึดเพลา แล้วดึงเพลากลางออก แถมยังต้องระวังเวลาที่จะนำล้อเข้า-ออก ไม่ให้ไปชนกับอย่างอื่นในบริเวณสวิงอาร์มอีก ก็ถือว่าดีอย่างเสียอย่างครับ

 

 

          ในด้านของการผลิต ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ บางค่ายผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุระดับไฮเกรดมาใช้ในการผลิตสวิงอาร์มให้มันเปลืองต้นทุน เพราะด้วยคุณสมบัติที่สามารถกระจายแรงไปยังแขนทั้ง 2 ข้าง ของสวิงอาร์มให้ช่วยกันรับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็นับได้ว่าเป็นข้อดีที่ลงตัวสำหรับการใช้งานตั้งแต่บนพื้นถนนจนถึงสนามแข่งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นสวิงอาร์มจึงเหมาะสมที่จะถูกติดตั้งเข้ากับรถทุกประเภททุกคลาสทุกราคามากกว่าโปรอาร์ม แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ใช้รถอยากอัพเกรดให้สวิงอาร์มเทพขึ้นไปอีก ก็สามารถหาซื้อสวิงอาร์มที่เป็นวัสดุพิเศษมาเปลี่ยนติดตั้งแทนสวิงอาร์มเดิมได้ครับ

 

โปรอาร์ม (Single Side Swing Arm)

Ducati Panigale V4S

 

โปรอาร์ม หรือ  Single Side Swing Arm

 

          มาถึงเจ้าโปรอาร์ม สิ่งแรกที่หลายๆ คนจะทักท้วงขึ้นมาทันที คงจะไม่พ้นดีไซน์ของจุดยึดล้อหลังที่แตกต่างจากสวิงอาร์มปกติโดยสิ้นเชิงใช่ไหมครับ ในจุดนี้...ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่น ที่ไม่ว่าโปรอาร์มไปติดตั้งอยู่กับรถรุ่นใด รถรุ่นนั้นจะดูหล่อและมีเอกลักษณ์สุดโดดเด่นขึ้นมาทันที ด้วยมุมมองที่โชว์ก้านของล้อแม็กด้านเดียวเต็มๆ ทำให้รถมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเป็นกอง แถมในด้านความสะดวกในการถอดชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ล้อหลัง ที่เพียงแค่คลายน็อตตรงกลางที่ดุมล้อออกก็สามารถนำล้อออกจากเพลาได้ทันที แต่จะมีปัญหาในรถบางรุ่น คือ บล็อคขันน็อตที่ต้องใช้บล็อคเฉพาะในการคลายออกก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่างเช่นกันครับ ต่อด้วยการเซอร์วิสระบบเบรกก็สามารถทำได้ง่ายได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อถอดล้อออกมาแล้ว ด้านหลังของล้อก็คือ ปั๊มเบรกและดิสก์เบรก แต่ในด้านของการปรับตั้งระยะของโซ่อาจจะยุ่งยากไปหน่อย เพราะต้องขันน็อตเพลาลูกเบี้ยวเพื่อยืดระยะของเพลาให้ห่างจากตัวรถและอาจจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะของโปรอาร์มในรถรุ่นนั้นๆ เช่นกันครับ

 

 

          แต่ถ้าพูดถึงต้นทุนในการผลิต ก็เรียกได้ว่าเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ด้วยเหตุเพราะโปรอาร์มมีจุดยึดล้อหลังเพียงแขนเดียว และเมื่อเกิดแรงและอาการต่างๆ ที่ถ่ายมาจากการขี่มายังโปรอาร์ม เจ้าแขนเดี่ยวจึงต้องรับแรงเต็มๆ ฉะนั้นทางวิศกรผู้ออกแบบจำเป็นต้องใช้วัสดุพิเศษที่มีคุณภาพสูงมาใช้สร้างโปรอาร์มเพื่อรองรับกับแรงที่ส่งมายังแขนเดี่ยวเต็มๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ในเรื่องของต้นทุนค่าตัวของรถที่มีโปรอาร์มติดตั้งมาจากโรงงาน ก็มีราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติเช่นกัน เราจึงมักจะเห็นโปรอาร์มถูกติดตั้งอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ที่มีราคาสูงๆ หรือบิ๊กไบค์ระดับไฮเอนด์เป็นส่วนใหญ่ครับ

 

ฟิลลิ่งในการขี่แตกต่างกันหรือไม่ ?

 

 

          จากความเห็นของไบค์เกอร์หลายๆ ท่าน รวมไปถึงผู้เขียนที่เคยลองขี่รถที่เป็นสวิงอาร์มและโปรอาร์มมีความเห็นว่า "ความแตกต่างในฟิลลิ่งการขี่แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ทั้งในด้านการทรงตัว น้ำหนัก แต่ถ้าจะมีผลแตกต่างจริงๆ ก็คงขึ้นอยู่กับการปรับเซ็ทโช้คอัพเสียมากกว่าครับ ในจุดนี้คงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ขี่แต่ละท่านด้วยนะครับ เพราะสวิงอาร์มและโปรอาร์ม ทั้งคู่ต่างก็ถูกออกแบบมาเพื่อรับแรงต่างๆ ที่เกิดจากการขี่เช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันที่สุดก็คงเป็นดีไซน์และวัสดุที่ใช้ผลิตขึ้นมาครับ" ซึ่งจากที่ทีมงานของ BoxzaRacing เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับนักแข่งระดับโลกอย่าง Marco Melandri ตอนที่เขายังแข่ง WSBK ให้กับทีม ARUBA.IT RACING-DUCATI อยู่นั้น ทาง Melandri เอง ก็บอกว่าความรู้สึกในการขับขี่ไม่แตกต่างกัน เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น ในท้ายที่สุดอยู่ที่การปรับเซ็ตรถโดยภาพรวมมากกว่า

 

 

          และนี่คือ ความแตกต่างและข้อดี-ข้อเสีย ของสวิงอาร์มและโปรอาร์มครับ จริงๆ แล้วถ้าให้พูดถึงโปรอาร์มย้อนกลับไปเมื่อยุค 90 หรือประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว โปรอาร์มเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่พีคสุดๆของรถบิ๊กไบค์ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะรุ่นรถในหลายๆ ค่ายทั้งฝั่งเอเชียและยุโรป ต่างก็เริ่มผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่มีโปรอาร์มขึ้นมาแบบเรทติ้งกระฉูด รวมไปถึงรถแข่งในรายการดังๆ อย่าง WSBK ในยุคนั้น เราจะเห็นทีมแข่งโรงงานจากค่าย Honda และ Ducati ที่มีการติดตั้งโปรอาร์มมาตั้งแต่ออกโรงงาน มาโลดแล่นอยู่ในแทร็คอย่างโดดเด่นเลยทีเดียว

 

 

          จนมาถึงทุกวันนี้ โปรอาร์มก็ได้เป็นที่รู้จักของไบค์เกอร์แทบทุกคนแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ว่า ความแตกต่างระหว่างสวิงอาร์มปกติที่เราเห็นทั่วไปและโปรอาร์มที่อยู่กับรถมอเตอร์ไซค์ราคาแพงๆ มันเป็นอย่างไร งานนี้ BoxzaRacing ได้นำมาให้ไบค์เกอร์ทุกท่านได้ทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยครับ สำหรับในครั้งหน้าจะมีความรู้เรื่องใดมาฝากกันอีก รอติดตามได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook