เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 29 ตุลาคม 2561 - 18:52

Quick Shifter ของเล่นยุคใหม่ รู้หรือไม่ ว่าสิ่งนี้ มีดีกว่าแค่การเตะเกียร์ได้โดยไม่ต้องกำคลัทช์

 

           Quick Shifter (ควิก ชิฟต์เตอร์) ไบค์เกอร์หลายๆ คนคงรู้จัก คุ้นเคยกับอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับมอเตอร์ไซค์ยุคใหม่ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสับเปลี่ยนเกียร์ แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่อดสงสัยไม่ได้ว่า Quick Shifter นั้น มีประโยชน์อย่างไร หรือว่าแค่ใช้เปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัทช์เท่านั้น วันนี้ BoxzaRacing จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับคุณสมบัติ การใช้งานอย่างถูกต้อง รวมถึงคลายความสงสัยว่า เมื่อใช้ Quick Shifter แล้ว จะทำให้เกิดการสึกหรอที่ระบบส่งกำลังมากกว่าการกำคลัทช์เข้าเกียร์แบบปกติหรือไม่ ไปคลายความสงสัยใน เกร็ดความรู้เรื่องรถ พร้อมๆ กันเลยครับ

 

BMW หนึ่งในแบรนด์มอเตอร์ไซค์ที่ติดตั้ง Quick Shifter คุณสมบัติดีเป็นอันดับต้นๆ ในโลก

 

Quick Shifter จาก Woorich Racing กับคุณสมบัติที่สามารถปรับแต่งได้อย่างหลากหลาย

 

           โดยทั่วไปแล้ว Quick Shifter ที่ติดตั้งจากโรงงานในปัจจุบัน หรือแม้แต่ที่เป็นของแต่งจากแบรนด์ต่างๆ จะมีด้วยกันอยู่ 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Quick Shifter ที่ทำงานได้ทั้งขึ้นและลง หรือที่เรียกกันว่า 2 Ways Quick Shifter คือ ไม่ต้องกำคลัทช์ทั้งในยามที่เตะเพื่อเพิ่มเกียร์ และตบเพื่อลดเกียร์ ซึ่งควิกชิฟต์เตอร์ในรูปแบบนี้ โดยส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งอยู่ในรถรุ่นใหญ่ๆ ที่ราคาค่อนข้างสูง ออพชั่นจัดเต็ม หรือรถที่ออกแบบมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ซึ่งความพิเศษของชิฟเตอร์ในรูปแบบนี้ คือ ในขณะที่ลดเกียร์ ตัวชิฟท์เตอร์ที่ลิ้งค์อยู่กับกล่อง ECU หลักของเครื่องยนต์ จะสั่งการเพื่อตัดกำลังขณะที่ลดเกียร์ พร้อมเพิ่มรอบชดเชยเพื่อลดการกระชาก โดยเงื่อนไขการใช้งานของการเตะเกียร์ลง โดยส่วนใหญ่จะต้องปิดคันเร่งเสียก่อน เช่น การทำงานของระบบ Quick Shifter ใน Ducati Panigale V4 (หากเป็นแบรนด์ของแต่งระดับท็อปๆ เช่น Woorich Racing จะสามารถโปรแกรมเพื่อสั่งการระบบจุดระเบิดและสั่งจ่ายเชื้อเพลิงเพื่อตัดการจุดระเบิดและชดเชยรอบเครื่องยนต์เพื่อลดการกระชากจากการลดเกียร์ลงอย่างรวดเร็วได้เช่นเดียวกับชิฟเตอร์แบบ 2 Ways จากโรงงานทำได้) ส่วนอีกแบบ คือ 1 Way Quick Shifter ที่ทำงานแค่การเตะเพื่อเพิ่มเกียร์เท่านั้น ส่วนการตบลดเกียร์นั้น ยังคงต้องใช้การกำคลัทช์เพื่อช่วยให้การลดเกียร์เป็นไปอย่างสมูท และช่วยลดการสึกหรอที่อาจเกิดกับระบบส่งกำลัง

 

นอกจากจะเตะเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัทช์แล้ว ประโยชน์ที่แท้จริงของ Quick Shifter คือ การไม่ต้องถอนคันเร่ง

 

           สำหรับประโยชน์คร่าวๆ ของ Quick Shifter ก็อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจครับ คือ ช่วยให้สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้โดยไม่ต้องกำคลัทช์ ซึ่งใช้หลักการตัดจังหวะการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ชั่วขณะระดับมิลลิวินาที เพื่อให้สามารถเตะเกียร์ผ่านไปได้โดยที่ไม่ต้องกำคลัทช์ ไม่ต้องถอนคันเร่ง ซึ่งสำหรับการเตะเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัทช์นั้น ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกหรือผลพลอยได้กับผู้ขับขี่เสียมากกว่า แต่ประโยชน์ที่แท้จริงของ Quick Shifter ในแง่ของมอเตอร์สปอร์ต โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า การสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้โดยไม่ต้องถอนคันเร่ง ดูจะเป็นคุณสมบัติที่ชัดเจน (กว่า) ของการใช้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้เพราะในยามที่คุณลงแข่งขัน ซึ่งต้องการความได้เปรียบแม้เพียงเสี้ยววินาที การที่สามารถเข้าเกียร์ได้โดยไม่ต้องถอนคันเร่งนั้น ส่งผลให้อัตราเร่งที่ต่อเนื่องของรถคันเก่งของคุณนั้นยังคงอยู่ ไม่เกิดอาการสะดุดหรือชะงัก โดยเฉพาะกับการแข่งขันในรูปแบบ Drag ที่ใช้เวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีในการตัดสินผลแพ้ชนะ นอกจากนี้การไม่ต้องมาพะวงกับการใช้คลัทช์ในการแข่งที่กินเวลาต่อเนื่อง ต้องเพิ่ม-ลดเกียร์อยู่ตลอด เช่น Circuit ย่อมทำให้สมาธิในการขับขี่ของชาวไบค์เกอร์ ทำได้อย่างแน่แน่วและสามารถโฟกัสกับรูปแบบสนาม รวมถึงท่าทางในการขับขี่ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง และที่แน่ๆ คือ การมี Quick Shifter ช่วยให้สองล้อคันเก่งของคุณ ขี่สนุกขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเลยล่ะครับ

 

 

           แม้ว่าจะมีข้อดีอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น แต่ก็ใช่ว่าการใช้ Quick Shifter จะไม่มีข้อเสียซะทีเดียว แน่นอนครับ หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี ย่อมมีความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ชิ้นนี้ จะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับเครื่องยนต์ โดยเฉพาะระบบส่งกำลัง ดังนั้นก่อนใช้ควรศึกษาคู่มือให้ละเอียดเสียก่อน ซึ่ง Quick Shifter แต่ละแบรนด์ ก็จะมีเงื่อนไขในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น รอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมในการใช้งาน บางแบรนด์เน้นการใช้งานที่รอบสูงเป็นหลัก ส่วนบางแบรนด์ที่คุณสมบัติสูงกว่า ก็อาจใช้งานได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่ในรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ เพียง 2-3,000 รอบ/นาที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้งาน Quick Shifter ที่เหมาะสม หากจะบอกว่า ควรมีความตั้งใจในการใช้ก็คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง  หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ จะเตะก็รีบเตะ เตะให้ผ่านไปอย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งจังหวะการเตะยิ่งช้า ก็ยิ่งมีโอกาสที่เฟืองเกียร์จะได้รับความเสียหายได้ง่ายตามไปด้วย ถ้าให้ดี...สำหรับบางแบรนด์ที่สามารถปรับตั้งความ Sensitive ในการทำงาน (แรงกระทำที่ส่งผลให้ Quick Shifter ทำงาน ยิ่ง Sensitive มาก ตัวสั่งตัดกำลังจะยิ่งสั่งเร็ว) รวมถึงตั้งค่า Kill Time ได้ (เวลาในจังหวะตัดการจุดระเบิด ยิ่ง Kill Time น้อย ความต่อเนื่องในการต่อเกียร์ยิ่งมีมาก แต่ก็เสี่ยงต่อการสึกหรอมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย) ควรจะปรับตั้งค่าการทำงานอย่างเหมาะสมโดยผู้ที่มีความชำนาญ (บางแบรนด์ เช่น Annitori ใช้การปรับผ่านแอพที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนด้วยบลูทูธ) ซึ่งหากยังไม่มีประสบการณ์ ไม่ควรลองปรับตั้งด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด

 

Quick Shifter จากแบรนด์ Annitori กับแอพพลิเคชั่นที่สามารถปรับตั้งความไวในการทำงานและระยะเวลาในการตัดกำลังได้เอง

 

            เป็นอย่างไรกับบ้างครับ สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่แท้จริงและการใช้งาน Quick Shifter อย่างปลอดภัย หวังว่าจะถูกอกถูกใจชาวไบค์เกอร์ไม่มากก็น้อย สำหรับคราวหน้า BoxzaRacing จะมีสาระความรู้ เรื่องราวที่น่าสนใจอะไรมาฝากอีก สามารถติดตามกันได้อย่างต่อเนื่อง ที่นี่...ที่เดียวเท่านั้นครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook