เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 29 กรกฏาคม 2559 - 20:44

กันสะบัดมอเตอร์ไซค์ “แบบแท่ง แบบก้อน มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร” เลือกแบบไหนให้โดนใจชาวไบเกอร์

 

             กันสะบัด ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ชาวสองล้อ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ ต่างให้ความสนใจในวงกว้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะเห็นทั้งมอเตอร์ไซค์ทั่วไป หรือแม้แต่บิ๊กไบค์ (Big Bike) นิยมติดตั้งกันสะบัดเพื่อเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ให้สูงขึ้นอีกระดับ ซึ่งกันสะบัดที่มีขายอยู่ทั่วๆ ไปในท้องตลาดนั้น ก็จะมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน ทำให้ไบค์เกอร์หลายๆ คน ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า กันสะบัดแบบไหน เหมาะกับสองล้อสุดรักของตัวเอง หรือมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ในโอกาสนี้ ทาง BoxzaRacing จะมาไขข้อข้องใจให้ทุกท่านครับ

 

กันสะบัดแบบก้อน กับการติดตั้งอย่างสวยงาม ลงตัวสุดๆ

 

                ขึ้นชื่อว่า กันสะบัด นับเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความสวยงามอย่างแน่นอนครับ เพราะหน้าที่ของกันสะบัด อยู่ที่การช่วยรักษาเสถียรภาพของตัวรถ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตกหลุม หรือเจอสภาพถนนที่ไม่เรียบ เจ้ากันสะบัดจะเป็นตัวช่วยที่จะลดอาการสะบัดของคอรถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่การขับขี่ในย่านความเร็วสูง กันสะบัดจะเป็นตัวที่ช่วยในการประคองแฮนด์รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ส่งผลให้สามารถคอนโทรลได้ง่ายขึ้น ช่วยลดอาการเมื่อล้าให้กับผู้ขับขี่ โดยเฉพาะยามออกทริปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

Hyperpro RSC กับฟังค์ชั่นเพิ่มความหนืดอัตโนมัติ ในขณะที่เกิดการสะบัดอย่างรุนแรง

 

                สำหรับลักษณะโดยภาพรวมของกันสะบัด คือ เป็นตัวสร้างความหนืดระหว่างคอรถกับตัวถัง เพื่อช่วยให้การควบคุม บังคับทัศทางของรถมอเตอร์ไซค์เสถียรภาพยิ่งขึ้น โดยปกติแล้ว ตัวกันสะบัดจะสามารถปรับระดับความหนืดได้ตามต้องการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ไหน รูปแบบใด สามารถปรับระดับความหนืดได้ละเอียดมากน้อยเพียงใด บ้างก็ปรับได้ประมาณ 10 กว่าระดับ ส่วนบางแบรนด์นั้นสามารถปรับความหนืดได้อย่างละเอียดถึง 30-40 ระดับเลยทีเดียว ส่วนในบางรุ่น จะมีฟังค์ชั่นพิเศษ ที่เมื่อเกิดอาการอาการสะบัดอย่างรุนแรง ตัวกันสะบัดจะมีวาล์วพิเศษเพื่อเพิ่มระดับความหนืดให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยอัตโนมัติ (เช่น Hyperpro รุ่น RSC) เพื่อลดอาการสะบัดและป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยรูปแบบของกันสะบัดที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ แบบแท่งที่มีลักษณะเป็นเหมือนโช้คอัพ รวมไปถึงแบบก้อน ซึ่ง BoxzaRacing จะไขข้อข้องใจให้กับทุกท่านครับ ว่าแบบไหนเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบใด และมีข้อดี – ข้อเสียตรงไหนบ้าง

กันสะบัดแบบแท่ง มีข้อดีในเรื่องความหลากหลาย สามารถใช้ได้กับรถหลากหลายรุ่น

 

                เริ่มที่ “แบบแท่งกันสะบัดยอดนิยมที่ชาวไบค์เกอร์อย่างเราๆ ท่านๆ ให้ความไว้วางใจเลือกใช้บริการกันมาอย่างยาวนาน โดยกันสะบัดแบบนี้ จะมาในรูปแบบของกระบอกโช้คอัพที่สามารถสร้างความหนืดเพื่อลดกาการสะบัด ข้อดีของการใช้การสะบัดแบบแท่ง ที่เห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องความหลากหลาย เพราะในหนึ่งรุ่นสามารถใช้กับรถได้หลายรุ่น หลายประเภท ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับขาจับที่เลือกใช้ ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีการออกแบบเลย์เอาท์ที่แตกต่างกันออกไป

 

ขาจับกันสะบัดแบบแท่งของแต่ละรุ่น จะมีเลย์เอาท์ที่แตกต่างกันออกไป

 

 

                อีกหนึ่งข้อดีของการเลือกใช้กันสะบัดแบบแท่งก็คือ เรื่องของความสม่ำเสมอในการสร้างความหนืด ไม่ว่าแฮนด์จะอยู่ในระดับตรง หรือหักซ้ายสุด – ขวาสุด ระดับความหนืดของกันสะบัดจะยังคงเท่ากันเสมอ เนื่องจากระบบการทำงานจะมาในรูปแบบของโช้กที่มีระบบวาล์วและน้ำมันอยู่ภายใน ตบท้ายด้วยการสามารถเลือกติดตั้งได้หลากหลายพื้นที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบและเลย์เอาท์การออกแบบของมอเตอร์ไซค์รุ่นนั้นๆ และด้วยความที่สามารถเลือกจุดติดตั้งได้อย่างหลากหลาย จะช่วยเอื้อในเรื่องของการปรับในขณะขับขี่ที่สามารถทำได้ง่าย (ยกเว้นการติดตั้งในบริเวณที่ไม่สามารถเอื้อมถึง) ส่วนข้อด้อยของกันสะบัดในรูปแบบนี้ แน่นอนว่า...ไม่ใช่มอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นที่จะหาขาจับแบบตรงรุ่นได้ง่ายๆ ขาจับบางรุ่นนั้น เรียกได้ว่า ราคาสูงกว่าตัวกันสะบัดเสียอีก นอกจากนี้การใช้กันสะบัดแบบแท่ง ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง ซึ่งอาจดูเกะกะ หรือขาดความเรียบร้อยสำหรับมอเตอร์ไซค์บางรุ่น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

กันสะบัดแบบก้อน มาพร้อมชุดสำเร็จ ที่สามารถติดตั้งได้ทันที

 

                ส่วนกันสะบัดอีกแบบหนึ่งที่เริ่มจะได้รับความนิยมในระยะหลังก็คือ กันสะบัดแบบก้อน ที่มาพร้อมขนาดที่กะทัดรัด เมื่อติดตั้งแล้วให้ความรู้สึกที่กลมกลืน โดยระบบการทำงานของกันสะบัดที่มาในรูปแบบก้อน โดยส่วนใหญ่จะมาพร้อมเฟืองหรือสปริงกลไกอยู่ภายใน ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพระหว่างแฮนด์กับเฟรมของรถมอเตอร์ไซค์ ข้อดีของการใช้กันสะบัดแบบก้อน ที่เห็นได้ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเรียบร้อยในการติดตั้ง ให้ความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถ เสมือนกับเป็นอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งมาจากโรงงาน ส่วนข้อดีอีกอย่างของกันสะบัดแบบก้อน คือ เกือบ 100% จะมาพร้อมชุดขาจับ หรือจุดยึดที่ออกแบบมาเฉพาะ สามารถติดตั้งได้ทันที โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการหาอุปกรณ์เพิ่มเติม ไม่ต้องมีการดัดแปลงหรือวุ่นวายกับชิ้นส่วนเดิมๆ ของตัวรถ

 

กันสะบัดแบบก้อน กับความเรียบร้อยในการติดตั้ง (แต่ในบางรุ่นอาจต้องยกตำแหน่งแฮนด์ให้สูงขึ้น)

 

 

               ส่วนจุดด้อยของการเลือกใช้กันสะบัดแบบก้อน อันดับแรกที่คนทั่วไปจะคำนึงถึงเลยก็คือ เรื่องของราคา ที่แบรนด์ชั้นนำส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกว่า 2x,xxx บาท ประเด็นต่อมาอยู่ที่เรื่องของการติดตั้ง แม้ว่าในเซ็ตจะมีอุปกรณ์ทุกอย่างมาให้แบบครบครัน แต่การติดตั้งกันสะบัดแบบก้อนในรถมอเตอร์ไซค์บางรุ่น จะเป็นจะต้องย้ายตำแหน่งของชุดแฮนด์ เนื่องจากต้องเผื่อพื้นที่สำหรับติดตั้งตัวกันสะบัด ทำให้ตำแหน่งของแฮนด์ รวมถึงท่วงท่าการขับขี่ของมอเตอร์ไซค์คันนั้นๆ เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อตำแหน่งอยู่ใต้แฮนด์ อาจทำให้การปรับตั้งในขณะขับขี่ทำได้ค่อนข้างยาก ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นจุดด้อยของกันสะบัดแบบก้อนก็คือ เรื่องความหนืดที่อาจขาดความสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับสปริง ในตำแหน่งที่แฮนด์อยู่ในแนวตรง สปริงจะมีแรงตึงที่ต่ำซึ่งในบางจังหวะไม่สามารถออกแรงหน่วงได้เพียงพอ ต่างกับในขณะที่หักเลี้ยว สปริงด้านใดด้านหนึ่งจะถูกรั้ง ทำให้ความหนืดในด้านตรงข้ามมาสูงกว่านั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเรื่องของความหนืดเป็นเพียงแค่จุดสังเกต ที่เป็นไปได้ว่าอาจไม่รู้สึกมากมายจนมีผลต่อการใช้งานจริงบนท้องถนน

 

 

                ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความโดดเด่น หรือจุดด้อยของกันสะบัดรูปแบบต่างๆ ซึ่งในภาพรวมแล้ว การติดตั้งกันสะบัด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือ Big Bike ให้มีเสถียรภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วนจะเลือกใช้แบบไหน สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบ ความเหมาะสม รวมถึงงบประมาณที่อยู่ในกระเป๋าของตัวท่านเองแล้วล่ะครับ สำหรับเกร็ดความรู้เรื่องรถของ BoxzaRacing ในครั้งนี้ คงต้องลากันไปก่อน ส่วนคราวหน้าจะมีเกร็ดความรู้อะไรมานำเสนอกันอีก สามารถติดตามชมกันได้อย่างต่อเนื่องที่ www.boxzaracing.com ที่นี่...ที่เดียวเท่านั้นครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook