เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 21 กุมภาพันธ์ 2562 - 17:43

DIY ใส่ เกียร์โยง อัพเกรด พักเท้าแต่ง ทำไมต้องใส่ เปลี่ยนแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไรบ้าง ไปดูกัน

เกียร์โยง หรือ พักเท้าแต่ง ของเล่นที่หลายคนแค่เห็นว่าสวย แต่บอกเลย...สวยรูป จูบหอม นะ

 

            เกียร์โยง หรือ พักเท้าแต่ง เป็นของแต่งอีกหนึ่งชิ้น ที่สังคมมอเตอร์ไซค์กล่าวขานกันมาอย่างยาวนาน ว่ามันมีประโยชน์ ใส่แล้วดีอย่างนู้น สวยงามอย่างนี้ แต่คงมีไม่กี่คน ที่จะรู้ถึงคุณสมบัติที่แท้จริง นอกเสียจากความสวยงามที่สัมผัสได้ด้วยตา วันนี้ BoxzaRacing จะพาทุกท่านไปซนกันเบาๆ ด้วยการ DIY เปลี่ยนพักเท้าแต่ง หรือที่ไบค์เกอร์ทั้งหลายนิยมเรียกกันว่า เกียร์โยง กับวิธีการเปลี่นง่ายๆ ที่คุณก็สามารถทำได้เอง พร้อมไปดูกันเมื่อเปลี่ยนเกียร์โยงแล้ว จะช่วยให้สองล้อคู่ใจของคุณ มีประสิทธิภาพในการควบคุมที่โดดเด่นมากขึ้นขนาดไหน

 

พักเท้าแต่ง หรือ เกียร์โยง อีกหนึ่งของเล่นที่ไบค์เกอร์สายสนามชื่นชอบ

 

คลายน็อตยึดด้วยบล็อค สำหรับบางรุ่นที่น็อตเมนซ้าย-ขวา เป็นตัวเดียวกัน ควรใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ

 

สวิชต์ไฟเบรกหลัง หรือ Stopper ควรแกะอย่างเบามือ

 

             1.แรกเริ่มของขั้นตอนการ DIY แน่นอนว่าต้องรื้อพักเท้าเก่าออกให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยใช้บล็อคตามขนาดที่โรงงานกำหนด ขั้นตอนนี้อาจดูเหมือนง่าย แต่อันที่จริงแล้ว มีจุดที่ควรระวัง โดยเฉพาะการถอดสวิตช์ไฟเบรกหลัง ควรแกะอย่างระมัดระวัง ไม่ให้พลาสติก หรือสายไฟต่างๆ ได้รับความเสียหาย อันอาจส่งผลให้ไฟเบรกหลังไม่ทำงาน (สำหรับรถบางรุ่น เช่น Yamaha FZ หรือ MT-09 เลเวลการถอดพักเท้าอาจจะต้องอาศัยความโปรสักเล็กน้อย เนื่องจากน็อตยึึดพักเท้าด้านซ้ายและขวาเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งต้องร้อยผ่านสวิงอาร์ม ดังนั้นจึงควรทำโดยช่างผู้ชำนาญ เพราะถ้าหากถอดออกมาแบบไม่ทันระวัง สวิงอาร์มอาจหลุดมาทั้งยวง และเป็นงานช้างที่จะต้องยัดกลับเข้าไป การค่อยๆ ถอดและทำทีละข้าง คาน็อตตัวหลักไว้ก่อน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด)

 

ถอดปั๊มกระทุ้ง ระวังอย่าให้น้ำมันเบรกรั่วไหล

 

 

              2.เมื่อถอดพักเท้าและสวิตช์ไฟเบรกหลังเป็นที่เรียบร้อย ให้ถอดปั๊มกระทุ้งออกจากตัวพักเท้าหลังออกมาอย่างบรรจงโดยใช้หกเหลี่ยมตามขนาดที่ทางโรงงานกำหนด ระวังมิให้น้ำมันเบรกในระบบเกิดการรั่วไหล ซึ่งอาจทำให้สีรถเกิดรอยด่างพร้อย

 

ยึดปั๊มกระทุ้ง ก่อนใส่พักเท้ากลับไปยังตำแหน่งเดิม

 

                3.หลังจากนั้นก็ประกอบปั๊มกระทุ้งและสวิชต์ไฟเบรกหลังเข้ากับพักเท้าแต่งที่จะเปลี่ยนเข้าไป พร้อมจัดทรง จัดตำแหน่งให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะขยับไปถอดพักเท้าอีกข้าง ซึ่งความยากอยู่ที่การถอดน็อตเมน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น ควรเล็งตำแหน่งให้ดี พร้อมหาน็อตหรือแท่งเหล็กที่มีขนาดเท่ากันแทงสอดไว้เพื่อรักษาตำแหน่ง และไม่ให้สวิงอาร์มหลุดจากเฟรมหลัก

 

ก่อนถอดน็อตเมน ควรหาแท่งเหล็กสอดไว้ เพื่อป้องกันสวิงอาร์มหลุดจากเฟรมหลัก

 

ใส่น็อตยึดเพื่อมาร์คตำแหน่งไว้ก่อน

 

             4.เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ขันน็อตตัวรอง เพื่อยึดพักเท้าแต่งให้อยู่กับที่เสียก่อน จากนั้นค่อยๆ ร้อยน็อตตัวหลักสวนทางกับเหล็กที่ใส่ขัดไว้ ค่อยๆ ตอกด้วยค้อนยางอย่างเบามือ ป้องกันหัวน็อตและเกลียวเสียหาย

 

ใส่น็อตเมนเข้าไป ตอกด้วยค้อนยางอย่างเบามือ

 

เก็บงานให้เรียบร้อย ก่อนขันอัดให้แน่น

 

             5.เก็บงานให้เรียบร้อย ปะเก็น แหวนรองต่างๆ อย่าให้พับหรือหัก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการใช้งาน ก่อนจะยึดด้วยน็อตตัวเมีย และขันให้ตึงมือหรือตามค่าปอนด์ที่คู่มือประจำรถกำหนดไว้ในทุกๆ จุด

 

การกำหนดจุดก้านเกียร์อย่างเหมาะสม ช่วยให้สัมผัสในการเตะเกียร์ทำได้อย่างนุ่มนวล

 

             6.ขั้นตอนสุดท้ายที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเลยก็คือ การเซ็ตก้านเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้การเตะเกียร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยควรตั้งมือลิงให้อยู่ในมาร์คที่ทางโรงงานกำหนดไว้ ส่วนจุดยึดที่ก้านเกียร์ ก็ควรอยู่ในจุดที่ตรงและง่ายต่อการเคลื่อนไหว ไม่มีอาการติดขัด ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการติดตั้งสักเล็กน้อย โดยเมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ควรลองเปลี่ยนเกียร์ให้ได้สัมผัสและความแม่นยำที่พึงพอใจ

 

สวยงาม...ตามท้องเรื่อง ที่สำคัญ คือ ใช้งานได้ดีจริง

 

             ฟีลลิ่งที่สัมผัสได้จากการ เปลี่ยนเกียร์โยง หรือ พักเท้าแต่ง ก็คือ สัมผัสในการเตะเกียร์นั้น ทำได้อย่างนุ่มนวล ลื่นไหลมากขึ้น ด้วยตำแหน่งของก้านเตะเกียร์ที่เปลี่ยนไปตามหลักคานดีดคานงัด ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของการเกียร์นั้น ทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นนั่นเอง ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจหลักในการเปลี่ยนเกียรโยงเลยก็คือ การจัดท่านั่งได้อย่างหลากหลาย และเหมาะสมต่อรูปแบบการขับขี่ในสนามแข่งมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ท่านั่งของผู้ขับขี่มีความกระชับกว่าเดิม หนีบถังได้แน่นขึ้น โดยสามารถปรับตำแหน่งความสูง-ต่ำ หน้า-หลัง ได้ตามต้องการ หรือตามสรีระของผู้ขับขี่ อีกทั้งเวลาที่เทหรือแบนโค้งหนักๆ ยังช่วยลดอาการพักเท้าครูดพื้น ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่ในสนามแข่งอีกด้วย

 

ขอขอบคุณ Smart BigBike By NaKaKoh

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook