เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 18 กันยายน 2563 - 18:25

Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ดีกว่านี้มีแน่...แค่ต้องพร้อมจ่ายหลักล้าน !

 

         Africa Twin หากพูดถึงชื่อนี้ หลายๆ ท่านที่เป็นไบค์เกอร์สายลุยรุ่นใหญ่ช่วงปลายยุค 80 น่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะสองล้อผู้นี้ จัดว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ระดับตำนานอีกหนึ่งรุ่น ที่มาพร้อมสมรรถนะอันโดดเด่นในทางฝุ่น จนได้ฉายาว่าเป็น ราชันย์แห่งทะเลทราย ซึ่งแน่นอนว่า ตำแหน่งราชันย์ ที่ผู้คนกล่าวขานกันในยุคนั้น ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ได้มาจากการสั่งสมชื่อเสียงในเวทีการแข่งขันแรลลี่สุดหฤโหด Paris-Dakar ที่ Honda NXR 750 Africa Twin (และ NXR 800 V) สามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จในปี 1986 - 1989 ซึ่งเป็นชัยชนะถึง 4 ปีซ้อน

 

Honda CRF1000 L Africa Twin โฉม L1 ปี 2016

 

          แม้จะเป็นรุ่นที่ดังเป็นพลุแตก แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่ทาง Honda หยุดการพัฒนารถในตระกูล Africa Twin ไปกว่า 1 ทศวรรษ จนคนทั่วไปคิดว่าสองล้อในตระกูลนี้ อาจต้องถึงกาลสูญสิ้นไปจากโลกนี้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในปี 2016 ทางค่าย Honda ก็ได้นำตัวลุยตระกูลนี้ออกมาสานฝันนักเดินทางรุ่นใหญ่ในชื่อ Honda CRF1000 L Africa Twin (ฮอนด้า ซีอาร์เอฟ 1000 แอล อัฟริกา ทวิน)  ที่มาภายใต้คอนเซ็ปท์ True Adventure ที่สื่อถึงการผจญภัยอย่างแท้จริง โดยไม่กลัวเกรงต่ออุปสรรคใดๆ นับเป็นการกลับมาที่ประสบความสำเร็จเอามากๆ ด้วยความเป็นมอเตอร์ไซค์สำหรับสายลุยรุ่นใหญ่ที่มีความครบเครื่อง เน้นความถึก ทน ดูแลรักษาง่าย ด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงเครื่องยนต์กลไกที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และที่สำคัญก็คตือ ช่วงราคาที่อยู่ในระดับที่พอจะเข้าถึงได้ง่าย ค่าตัวเริ่มต้นสตาร์ทเพียง 550,000 บาท หากเมื่อเทียบกับความเป็นตัวลุยรุ่นใหญ่แล้ว บอกได้เลยว่า...คุ้มค่า

 

Honda Africa Twin CRF1100 L ตอกย้ำความคุ้มค่าอย่างเต็มตัว ด้วยเทคโนโลยีระดับชั้นนำหัวจรดท้าย

 

          แม้ว่าจะทำยอดขายได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าย Honda ไม่หยุดการพัฒนาเพียงแค่นั้น โดยในช่วงปลายปี 2019 ได้ต่อยอดมอเตอร์ไซค์ตระกูล Africa Twin ให้แกร่งกล้ามากยิ่งขึ้น โดยมาในชื่อ Honda Africa Twin CRF1100 L (ฮอนด้า อัฟริกา ทวิน ซีอาร์เอฟ 1100 แอล) ที่ได้รับการแก้ไขหลายๆ จุดขัดใจที่มาจากคอมเม้นท์ของบรรดาแฟนคลับ Honda CRF1000 L Africa Twin เช่น การอัพเกรดขนาดและพละกำลังของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น มีการนำล้อซี่ลวดที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับยางแบบ Tubeless หรือไม่มียางในมาใช้ (สำหรับรุ่น Adventure Sport) อัพเกรดระบบอิเล็คทรอนิคส์ให้รับกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้หน้าจอ TFT แบบสัมผัส เพื่อสั่งการลูกเล่นต่างๆ รวมถึงเชื่อมต่อกับผู้ขับขี่ผ่านทาง Blutooth จากเจนเนเรชั่นเดิม ที่เรียกได้ว่า ดูดี คุ้มค่า สมน้ำสมเนื้ออยู่แล้ว สำหรับตัวใหม่อย่าง Honda Africa Twin CRF1100 L จึงกลายมาเป็นสองล้อสายลุยที่ Perfect อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ราคาต่างกัน ลักษณะการใช้งานก็ต่างกัน เลือกได้ในสไตล์ที่อยากเป็น

 

 

            บอกตรงๆ ว่าผมเฝ้ารอโอกาสนี้อยู่นานเลยทีเดียว สำหรับการจะได้สัมผัสและทดลองขี่เจ้า Honda Africa Twin CRF1100 L ด้วยความชื่นชอบส่วนตัวกับรถในตระกูลนี้ แต่อย่าเพิ่งด้วยตัดสิน หรือ อคติไปไกลว่าผมจะรีวิวแบบอวยจนเกินเหตุ ทุกอย่างที่นำเสนอ ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเนื้อผ้ากับสิ่งที่ได้สัมผัสมาจริงๆ ทั้งสิ้น โดยรถที่ได้รับมาทดลองขี่ในครั้งนี้ เป็น Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport (ฮอนด้า อัฟริกา ทวิน ซีอาร์เอฟ 1100 แอล แอดเวนเจอร์ สปอร์ต) ราคา 699,000 บาท ซึ่งเป็นรุ่นย่อมที่ได้รับการแต่งเติมสมรรถนะและอุปกรณ์ในการขับขี่ที่แตกต่างจากรุ่นสแตนดาร์ด หากอยากรู้ว่าแตกต่างอย่างไร แล้วคุ้มค่าไหมกับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นมา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Honda Africa Twin CRF1100L 2020 กับส่วนต่างแสนนิดๆ คุ้มไหมที่จะเอาตัว Adventure Sport หากมองโดยส่วนตัวแล้ว ผมคงไม่สามารถสรุปได้ว่าคันไหนดีกว่า เพราะแต่ละคันนั้น ก็ทำมาเพื่อวัตถุประสงค์และรูปแบบการเดินทางที่แตกต่างกันออกไป ในจุดนี้สำหรับผู้ซื้อย่อมมีโจทย์ในใจอยู่แล้ว แต่สำหรับผมบอกเลยว่า...คันไหนก็ได้ !

 

การได้ม้าศึกที่ถูกใจ...มันก็ทำให้เราพร้อมเผชิญทุกสถานการณ์ น่าน หลวงพระบาง ซาปา แค่หยิบมือ

 

             มาว่าเรื่อง Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ของเรากันต่อ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจในรถตระกูล Africa Twin แบบจริงจัง มันก็คงตั้งแต่ผมเอารถรุ่นนี้ (เจนเนอเรชั่นก่อน หรือที่สาวกนิยมเรียกกันว่าโฉม L1 เกียร์ธรรมดา 6 สปีด) เดินทางจากประเทศไทย ผ่านลาว ไปยังจุดหมายที่ ซาปา ประเทศเวียดนาม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมอมว่าตอบโจทย์มากๆ สำหรับการเดินทางในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทางเรียบ ทางฝุ่น ขึ้นเขา ลงห้วย ด้วยงบราว 5 แสนกลางๆ คงจะไปหามอเตอร์ไซค์รุ่นไหนที่ออกทริปไกลๆ ได้ดีขนาดนี้...มันคงหาไม่ได้อีกแล้ว (ไม่นับพวกรถยุโรปมือสองปีเก่า ที่อาจเกิดปัญหาได้ทุกเมือ หากดูแลไม่ถึงนะ เดินทางไกลๆ แบบนี้ เลือกรถที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้...ดีที่สุดครับ) ด้วยความชอบจากวันนั้น มันทำให้เกิดความคาดหวังจนถึงวันนี้ คิดเสมอมาว่ารุ่นใหม่เครื่องใหญ่ ออพชั่นเพียบ มันย่อมต้องมีอะไรที่ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาแน่ๆ แต่พอลองจริงๆ แล้ว...มันใช่หรือ ?

 

 

               อย่างที่บอก ว่ารุ่นที่ผมได้มาทดลองขี่ในครั้งนี้เป็น Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ที่มาพร้อมระบบส่งกำลังแบบ Dual Clutch Transmission (DCT 6 สปีด) สามาภาพตามตรงว่า โดยประสบการณ์ของผมกับเกียร์ DCT นั้น ยังค่อนข้างน้อย ช่วงที่เอามาขี่แรกๆ อาจรู้สึกติดๆ ขัดๆ ไปสักนิด ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจจังหวะของการเปลี่ยนเกียร์อยู่บ้าง คือ โอเคนะ การเปลี่ยนเกียร์ในโหมด D ต้องบอกว่ามีความต่อเนื่อง นุ่มนวลดี และก็น่าจะให้อัตราการสิ้นเปลืองที่ดีด้วย เพราะเกียร์เปลี่ยนเร็วมากในระดับหลัก 10 กม./ชม. คือ เกียร์ 4 เปลี่ยนที่ 40 กม./ชม. จากเกียร์ 5 ไปเกียร์ 6 เปลี่ยนที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ที่รอบเครื่องยนต์ "พันนิดๆ" ฉันท์ใดฉันท์นั้น วิ่งความเร็วที่ 100 กม./ชม. ในเกียร์ 6 รอบเครื่องยนต์โชว์ 3,250 รอบ/นาที, และเพิ่มเป็น 4,000 รอบ/นาที ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. (ความเร็ว 150 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ 5,000 รอบ/นาที ช่วยไม่ได้...ความนิ่งมันพาไป) เรื่องความสมูทและต่อเนื่องนั้นไม่เถียง แต่อาจจะตอบสนองแบบอืดๆ ไปบ้าง ตามอารมณ์รถขี่ชิลล์ๆ

 

Dual Clutch Transmission เทคโนโลยีการส่งกำลังที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ (ตอนลุยนี่ชัดเลย)

 

DCT ลองแรกๆ อาจขัดใจ แต่ใช้ไปๆ...อาจหลงรัก

 

             สำหรับการขับขี่ด้วยเกียร์ D ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การเร่ง (ถ้าคุณไม่รีบ) เพราะแน่นอนว่าแรงบิดในระดับ 104.4 นิวตัน-เมตร นั้นเหลือเฟือที่จะลากตัวถัง 236 กก. และน้ำหนักของตัวผู้ขับขี่ทะยานไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว (แต่คงไม่เร็วเท่าโหมดสปอร์ต) แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า หากคุณกำลังขับขี่ในสภาพการจราจรที่ที่คับคั่ง แต่ไม่ถึงกับต้องจอด อารมณ์ว่าไหลไปเรื่อยๆ ที่ความเร็ว 20-30 กม./ชม. การใช้เกียร์ในตำแหน่ง D อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิด เพราะแรงบิดจากเครื่องยนต์จะพาให้รถไหลไปข้างหน้าอย่างเดียว จนผู้ขับขี่ต้องกำเบรกเพื่อช่วยเลี้ยงความเร็วอยู่ตลอดเวลา สำหรับคนที่ไม่ชอบใช้เบรกเยอะนั้น บอกได้เลยว่า...ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ ปัญหานี้ทำให้ผมถึงกับเฟลกับ Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ไปชั่วระยะหนึ่ง จนพาลคิดไปว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา...มันอาจจะเหมาะกับผมมากกว่า ซึ่ง...มันเป็นความรู้สึกที่สิ้นคิดเอามากๆ และในวันแรกที่รับรถมา เป็นเพียงวันเดียวที่ผมคิดแบบนั้น !

 

 

            การแก้ปัญหาที่ว่ามานั้นไม่ยาก สำหรับเกียร์ DCT ของ Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport มีอะไรให้เราได้เล่นมากกว่าที่คิด ซึ่งนอกจากการใช้งานในรูปแบบ Manual แล้ว ก็ยังมีรูปแบบ Sport มาให้เลือกถึง 3 ระดับ ผมลองเลือกเล่นดูในทุกระดับ ดูว่าแบบไหนจะเหมาะกับสไตล์ของตัวเองที่สุด จนได้บทสรุปว่า Sport II ให้ความรู้สึกที่กำลังดี ตอบสนองเยี่ยม เปลี่ยนเกียร์ขึ้น - ลง ไม่หน่วง และไม่เร็วเกินไป มีแรงฉุดจากเครื่องยนต์มาช่วย ทีนี้ก็ไม่ต้องใช้เบรกเยอะเหมือนแต่ก่อนแล้ว ทางสว่างเริ่มมา ยิ่งลองยิ่งติดใจแล้วทีนี้ ตอนวันที่เอารถไปคืนนี่ต้องบอกว่า...เสียใจที่ต้องจากกันอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ นอกจากนี้ถ้าใครยังไม่พอใจกับโหมดสปอร์ต โดยเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยตัวเองที่แป้น Paddle Shift ด้านซ้าย แต่เอาจริงๆ ถ้าคุณคุ้นชินกับการใช้ DCT แบบจับจังหวะได้เป๊ะๆ แล้ว อาจจะลืมเกียร์ในรูปแบบ Manual Mode ไปเลยก็ได้

 

อาจไม่ถนัดในทางออฟโร๊ดเท่าไหร่ แต่ก็พอลุยได้อย่างมั่นใจ ด้วยเทคโนโลยีที่มีมาให้

 

เบาะนั่งไม่สูงมาก แต่ก็นั่งได้สบาย และไม่ลำบากชีวิตดีนักแหละ

 

            แน่นอนครับ ว่าจุดเด่นของความเป็น Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport นั้น ไม่ได้อยู่ที่การขับขี่ในแนวทัวริ่งเพียงอย่างเดียว ความเป็น True Adventure มีอะไรให้คุณได้ไปเปิดโลกทัศน์ได้เหนือกว่านั้น โดยเฉพาะการขับขี่ในรูปแบบ Off Road ซึ่งคนที่ไม่สันทัดในการขับขี่รูปแบบนี้เช่นตัวผมเอง ก็ยังสามารถขับขี่ได้อย่างน่าพอใจ จะยืน หรือนั่งขี่รู้สึกมั่นใจ (ในระดับที่ตัวเองไปได้) ด้วยลักษณะโครงสร้างของตัวรถที่ออกแบบมาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้ง Gravel และ Off Road ที่ให้การตอบสนองของระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง Electronically Equipped Ride Adjustment (EERA จาก Showa) การตอบสนองของเครื่องยนต์ การทำงานของ ABS (ในโหมด Off Road สามารถปิด ABS ที่ล้อหลังได้ เพื่อประสิทธิภาพการลุยที่เหนือกว่า) รวมถึงยางที่มาในรูปแบบ All Terrain คู่เดียว เปรี้ยวได้ทุกเส้นทาง ในส่วนของช่วงล่างแม้หลายๆ คนจะบ่นว่า สเปคที่ขายในเมืองไทยมาพร้อมช่วงล่างแบบ Low Suspension ที่เบาะความสูงจากพื้นเพียง 830 มม. แต่โดยส่วนตัวผมที่สูง 168 ซม. (ก็น่าจะมาตรฐานคนไทย...มั้ง) กลับรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้การประคองรถในเส้นทางที่ไม่เป็นใจนั้นทำได้ง่ายกว่า และอีกหนึ่งข้อดีสำหรับการใช้โช้กอัพในรูปแบบไฟฟ้าปรับอัตโนมัติก็คือ ความง่ายในการเข้าถึง ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรมากมาย แค่เลือกโหมดให้เหมาะสมกับการขับขี่ ที่เหลือตัวรถ Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport จัดการให้เสร็จสรรพ แต่หากคุณเป็นสายลุยพันธ์แท้ ชอบลอง ชอบเล่น เป็นสายอัพเกรด ตัว Standard ที่มาพร้อมโช้กอัพแบบปรับมือ อาจจะตอบโจทย์ตรงจุดนี้มากกว่า โดยข้อได้เปรียบของเกียร์ DCT สำหรับการขี่ Off Road คือ ไม่ต้องมาคอยพะวงกับการใช้คลัทช์ ไม่ต้องกลัวเครื่องดับกลางเนิน แค่ใช้คันเร่งกับเบรกให้เหมาะสม หากต้องการกำลังในการดันเนิน สามารถใช้ G Switch ช่วยในการล็อคไม่ให้เกียร์เปลี่ยนในรอบต่ำจนเกินไปได้

 

ช่วงล่างปรับไฟฟ้า Showa EERA ตอบสนองตามโหมดการขับขี่ ใช้งานง่าย...ไม่ต้องคิดเยอะ

 

            Off Road ว่าแซ่บแล้ว บนถนนก็ใช่ว่าจะไร้พิษสง ด้วยช่วงล่างที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ได้อย่างหลากหลาย โดยประมวลผลจากการขับขี่ สร้างความมั่นใจได้ในทุกย่านความเร็ว Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport เป็นมอเตอร์ไซค์อีกหนึ่งรุ่นที่ห้ามเผลอเลยทีเดียว บิดคันเร่งเพลินๆ เผลอแปบเดียวโดนระบบเตือนความเร็วจากด้านหลังสะกิดเอาจะหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะ ด้วยชิลด์หน้าที่สูงทำให้ลมปะทะตัวผู้ขับขี่นั้นมีน้อย (จนแทบจะไม่มี นอกจากแค่เสียงที่สัมผัสได้) ทำให้การเดินทางไกลๆ ที่ความเร็วสูงไม่รู้สึกว่าเร็วเท่าไหร่ (ทั้งๆ ที่จริงๆ...แอบเร็ว) ข้อดีคือ ไม่ล้ามากนัก ในสภาพการจราจรไม่เป็นใจ การซอกแซกพอทำได้ ยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับทักษะส่วนบุคคล แต่สิ่งที่มีผลอย่างยิ่งก็คือ ความสูงของเบาะที่ไม่มากเกินไป ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ ปัญหาความร้อน สำหรับตัวเก่าที่เคยขี่ผมรู้สึกชอบมาก เพราะแทบไม่ร้อนเลย มาในตัวนี้ ความรู้สึกนั่นใกล้เคียงกัน ขี่รถติดๆ ไม่รู้สึกระคายผิวมากนัก (แดดจากสภาพอากาศร้อนกว่าเยอะ 555) แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นข้อด้อย (เน้นย้ำว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัว) คือ ชิลด์ที่ให้มานั้นค่อนข้างสูง สูงในระดับที่ประลงสุดแล้ว ขอบบนของชิลด์ยังอยู่ในระดับ "ครึ่งสายตา" สำหรับคนขี้รำคาญแล้ว อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการรบกวน ครั้นจะปรับให้สูงกว่านั้นก็คงไม่ใช่เรื่อง (มองผ่านชิลด์หนาๆ แล้วหลอกตาสุดๆ) สุดท้ายก็อยู่ที่การทำใจให้ชิน ปรับแก้ที่ตัวเองโดยการนั่งยืดตัวตรง (เพิ่มความสง่างามในการขับขี่ได้อีกขั้น 555) หรือหากมีโอกาสได้ครอบครองจริงๆ อาจจะต้องยอมหาชิลด์แต่งที่ความสูงน้อยกว่านี้มาประจำการแทน 

 

Cornering Light ลูกเล่นที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็ช่วยได้เยอะในยามค่ำคืน

 

ชิลด์หน้าสูงไปนิด อาจไม่แย่...แต่แอบขัดใจ

 

เบรกชุดนี้ ไม่ถึงกับหนึบขั้นสุด แต่ก็เอาอยู่ทุกสถานการณ์

 

           สิ่งหนึ่งที่แอบประทับใจมากๆ โดยเฉพาะการขับขี่ในช่วงกลางคืน ก็คือ ไฟ Cornering Light ที่ติดสว่างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อรถมีการเอียง ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยสำหรับการเลี้ยวในทีมืด โดยจะทำงานมากหรือน้อยก็ตามองศาการเลี้ยว (มากสุด 3 ดวง) ซึ่งเรื่องประสิทธิภาพในการเลี้ยวหรือเข้าโค้งของ Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport นั้น ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา แม้จะเป็นรถที่มีความสูง แต่ก็ให้ความมั่นใจในการเลี้ยวหรือเข้าโค้งได้แบบสุดกำลัง ด้วยการออกแบบมาให้สามารถควบคุมรถได้ง่า อีกทั้งยังมีตัวช่วยอย่างระบบ IMU 6 แกน ที่คอยประมวลผลจากข้อมูลจต่างๆ เพื่อให้การขับขี่เป็นไปอย่างปลอดภัย มีระบบ Cornering ABS มาให้ใช้คอยแต่งอาการหากเข้าโค้งด้วยความเร็ว Over Speed ด้านระบบเบรกที่ให้มานั้น ก็ถือว่า ไว้เนื้อเชื่อใจได้ แม้ต้องหยุดรถกระทันหัน Nissain 4 POT พร้อมจานหน้า 310 มม. แบบคู่ และดิสเบรกหลัง 1 POT จาน 256 มม. ก็เอาอยู่ โดยในขณะที่แบรกด้วยความรุนแรง ไฟ Emergency Hazard จะติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อเตือนรถด้านหลัง เป็นตัวช่วยเติมความปลอดภัยได้อีกขั้นสำหรับรถ Honda หลายๆ รุ่นในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเบรกมือไว้สำหรับช่วยจด เนื่องจากรถที่เป็นระบบส่งกำลัง DCT ไม่สามารถจอดค้างเกียร์ได้เหมือนกับรถที่เป็นเกียร์ MT อาจเกิดการลื่นไหลหากจอดบนทางลาดชัน ซึ่งการมีเบรกมือเข้ามา ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจอดได้มากยิ่งขึ้น

 

Welcome Ride ก็มา แสดงเอกลักษณ์ความเป็น Africa Twin แท้ๆ

 

หากขับขี่ในเวลากลางคืน หรือในสภาพแสงน้อย หน้าจอจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เพื่อลดการรบกวนสายตา

 

หน้าจอทัชได้ แต่อันไหนที่ไม่รองรับ จิ้มที่นี่...เข้าได้หมด 

 

           การเดินทางนานๆ อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อหากไม่มีอะไรมาเป็นตัวช่วยในการผ่อนคลาย แต่คงไม่ใช่กับ Honda Africa Twin CRF1100 L ที่มาคราวนี้ จัดเต็มด้วยลูกเล่นที่รองรับการเชื่อมต่อกับผู้ขับขี่ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Blutooth สำหรับการรับโทรศัพท์ ฟังเพลง โดยเชื่อมต่อกับชุดหูฟังภายในหมวกกันน็อคและคอนโทรลได้ผ่านทางปุ่มที่ประกับแฮนด์ด้านซ้าย โดยหน้าจอแสดงผลด้วยรูปแบบสีสันสวยงาม ซึ่งนอกจากจะรองรับความบันเทิงแล้ว ยังสามารถเซ็ตค่าการทำงานต่างๆ ของตัวรถได้จากหน้าจอ แต่หากไม่ใช่การปรับได้อย่างละเอียดทุกองค์ประกอบ ถ้าต้องการปรับในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย เข้าเมนูที่ประกับแฮนด์ด้านซ้าย ดูจะเป็นทางเลือกที่จบกว่า โดยระบบอิเล้คทรอนิคส์ที่ใส่มาให้ใน Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะสามารถปรับเซ้ตได้อย่างหลากหลายตามที่ผู้ขับขี่ต้องการ เช่น พละกำลังตามโหมดการขับขี่ ความหน่วงของ Engine Brake ระบบป้องกันการยกล้อ รวมถึง Traction Control ที่ให้ระดับการทำงานที่มีความละเอียดถึง 7 ระดับ อยากได้มาก ได้น้อย เลือกได้ง่ายๆ เพียงสัมผัสเดียว ซึ่งระดับในการเลือกใช้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความสนุกในการขับขี่ แรกๆ อาจจะงงกับปุ่มที่มีมาให้กดแบบมหาศาล แต่หากใช้เวลาทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ สักพัก ก็จะช่วยสร้างความคุ้นเคยได้มากขึ้น

 

จะขี่โหด ขี่ช้า อัตราสิ้นยเปลืองก็...ชิลล์ๆ

 

เติม 300 บาท วิ่งได้เท่านี้ (ไปได้อีก แต่พอเถอะ)...คงไม่มีใครเถียงว่าไม่ประหยัดมั้ง ?

 

           อีกหนึ่งไฮไลท์ของความเป็น Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport ที่คนที่เล่นบิีกไบค์หลายๆ คนคงมองผ่านไป แต่ก็เป็นปัจจัยที่มีผลสำหรับนักเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเดินทางไปๆ ไปทีเป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์ นั่นก็คือ เรื่องของอัตราการสิ้นเปลือง ส่วนตัวผมแล้ว ลองใช้งานจริงในทุกรูปแบบ เห็นอัตราสิ้นเปลืองแล้วค่อนข้างเซอร์ไพรซ์หนักมาก มอเตอร์ไซค์เครื่อง 1,100 ซีซี. (ไม่ถึงก็ใกล้เคียงแหละ) มีแรงม้าให้ใช้ร้อยกว่าตัว เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ตอนระดับน้ำมันในถังเริ่มกระพริบ 300 บาท ณ เวลานั้นได้ปริมาณ 14 ลิตร พอดิบพอดี วิ่งใช้งานทุกสภาวะ ทั้งบนถนน และทางดิน ใช้ความเร็วทุกระดับเท่าที่รถจะไปได้ ไม่มีเลี้ยงหมูหรืออมคันเร่งให้ได้ตัวเลขสวยๆ มาโชว์ จับระยะทางจนกว่าจะกระพริบเหมือนเดิม ซึ่งระยะทางที่ทำได้ คือ กว่า 290 กม. (ในภาพคือ เซ็ต 0 หลังจากเติมไปแล้วประมาณเกือบๆ 10 กม.) ตีกลมๆ ตก กม. ละบาทนิดๆ หรือราว 20.5 กม./ลิตร เป็นอย่างน้อย มันแสดงถึงความคุ้มค่าในการเดินทางอย่างจริงจัง ซึ่งหากเติมเต็มถัง การเดินทางในระยะ 450 กม. + ต้องบอกว่าเอาอยู่แน่นอน (ทาง Honda เคลมไว้ว่า 500 กม./ถัง สบายๆ)

 

 

            ในภาพรวมต้องยอมรับว่า Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport พัฒนามาได้ไกลกว่าเจนเนอเรชั่นก่อน จนเรียกได้ว่าไร้ที่ติ สำหรับรถราคาในระดับนี้ ถ้าจะถามว่ามีมอเตอร์ไซค์รุ่นใหญ่แนวแอดเวนเจอร์ที่ดีกว่านี้ไหม ผมตอบอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า...มีแน่ๆ แต่แค่คุณต้องยอมจ่ายส่วนต่างค่าตัวอีกเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับรุ่นนี้ โดยเฉพาะหากเมื่อเทียบกับ Honda Africa Twin CRF1100 L ตัวสแตนดาร์ด ราคา 559,000 บาท ที่เอาจริงๆ ก็คงเพียงพอแล้ว สำหรับสายเดินทางที่ชอบอะไรแบบมินิมอล คือ ไม่เน้นลูกเล่นอะไรมากมาย เน้นขี่ดี ทน ถึก ดูแลรักษาง่ายอย่างเดียว โดยส่วนตัวผมก็ยังชอบนะ เมื่อเทียบกับค่าตัวที่เข้าถึงได้ง่ายพอตัว แต่หากเป็นรุ่น Adventure Sport กลับต้องคิดเยอะเพราะนักบิดระดับมนุษย์เงินเดือน การจะซื้อมอเตอร์ราคาแตะๆ 7 แสนบาท คงเป็นอะไรที่ต้องคิดแล้วคิดอีก (ไม่เหมือนกับตัวก่อน ที่รุ่น Adventure Sport ยังมีตัวเกียร์ MT มาเป็นทางเลือกในราคาที่ไม่ข้าม 6 แสน) คือ แน่นอนแหละครับ ว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นมามันคุ้มค่าแบบปฏิเสธไม่ได้ (ล้อซี่ลวดทูปเลส, หน้าจอสัมผัส, ช่วงล่างไฟฟ้า, เครื่องใหญ่, เฟรมแยก...ทั้งหมดนี้มูลค่ามหาศาลแน่ๆ) แต่แค่มันอาจจะเกินเอื้อมไปนิด สำหรับคนที่อาจจะยังไม่พร้อมทุ่มทุนสร้างขนาดนั้น ซึ่งข้อดีของการที่ราคาขยับไปไกล Honda Africa Twin CRF1100 L Adventure Sport จึงขยับขึ้นมาเป็นรถสายลุยพรีเมี่ยมได้อย่างเต็มตัว พร้อมไปฟัดกับรุ่นใหญ่แบรนด์อื่นๆ ได้อย่างไม่ต้องขัดเขิน และคงไม่มีใครกล้าเอาไปวัดกับแอดเวนเจอร์มิดเดิ้ลคสาสค่ายยุโรปอีกแล้ว ในเมือจัดองค์ประกอบมาให้แบบเต็มอิ่มขนาดนี้

 

ดีกว่านี้ "มีแน่" แค่ต้องยอมจ่าย...หลักล้าน

 

Honda Africa Twin CRF1100 L เบอร์ 1 ในดวงใจ...ด้วยจิตคาราวะ (Pajingo)

 

            หากเอาความคุ้มค่ามาวัด ผมยังมองว่า Honda Africa Twin CRF1100 L รุ่นสแตนดาร์ด ยังคงทำได้ดีกว่าอย่างไร้ข้อกังขา แต่หากต้องการความสุดในคอนดิชั่นความเป็นสายลุยที่ไม่ต้องจ่ายเยอะ (เมื่อเทียบกับคู่แข่ง) รุ่น Adventure Sport ก็พร้อมจบได้อย่างไม่คาใจ สุดท้ายมันอยู่ที่ผู้ซื้อแล้วแหละ ว่าอยากจะ "เน้นทรง" จบง่าย หรือ "เน้นสุด" มีทุกอย่าง แต่สำหรับผมแล้ว บอกเลยว่า "คันไหนก็ได้ ถ้าเป็น...Africa Twin"

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook