Yamaha YZF-R1 2020 (ยามาฮ่า วายแซดเอฟ - อาร์วัน 2020) เผยโฉมครั้งแรกในโลก กลางเดือนกรกฎาคม 2019 แบบสุดเซอร์ไพรซ์ โดยก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ค่ายส้อมเสียงจะปล่อยสปอร์ตเรือธงเจนเนอเรชั่นใหม่ออกมาเร็วขนาดนี้ เนื่องจากความนิยมในตลาดของรุ่นเดิมก็ยังคงฮอตฮิตติดลมบน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สร้างยอดจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตที่ถือว่าสูงมากในตลาดสปอร์ตไบค์
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ นโยบายการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของทางค่าย Yamaha ที่มีความมุ่งมั่นในการสรรสร้างนวัตกรรมออกสู่ท้องตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคได้จับต้องเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตระดับสูงสุดของโลกอย่างรายการ MotoGP ที่ Yamaha ถือเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการ ด้วยผลงานที่อยู่ในระดับหัวแถวอย่างต่อเนื่อง สิ่งข้อดีก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมได้รับอานิสงส์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับชั้นนำจากตัวแข่ง Yamaha YZR-M1 สู่รถระดับโปรดักชั่นที่สามารถเข้าถึงได้ ถ้าคุณเป็นคนที่คัล่งใคล้ความเร้าใจอยู่ในสายเลือด เช่นเดียวกับที่สปอร์ตเรือธงอย่าง Yamaha YZF-R1 ทำมาโดยตลอด
Yamaha YZF-R1 โฉมปี 2015
ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2015 การถือกำเนิดของ Yamaha YZF-R1 ในยุคนั้น เป็นเมือนดั่งเซอร์ไพรซ์แห่งวงการสปอร์ตไบค์ที่ปฏิวัติทุกเทคโนโลยีที่เคยมีมา ไม่ว่าจะด้วยเครื่องของภาพลักษณ์และแอโร่ไดนามิคส์ที่มีความโดดเด่น ขุมพลัง 4 สูบ พิกัด 1 ลิตร แบบ Crossplane CP4 อันมีเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดความเร้าใจ ชนิดที่ยากจะมีใครเหมือน รวมไปถึงระบบอิเล็คทรอนิคส์อันชาญฉลาด ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมเครื่องจักรสีน้ำเงินอันเร้าใจได้ง่ายและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวรถ แน่นอนว่า...ณ วันนั้น จนถึงตอนนี้ ทุกคนยอมรับว่า Yamaha YZF-R1 (2015-2019) คือ หนึ่งในที่สุดของสปอร์ตไบค์ในคลาสพัน ซีซี. แต่หากถ้าคุ้นได้ลองสัมผัสกับ Yamaha YZF-R1 2020 แล้ว เชื่อว่าความคิดของคุณ จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากที่ผมได้คุยกับพี่สื่อมวลชนที่เคารพท่านหนึ่ง ความเห็นออกมาแบบตรงกันว่า นี่คือ R1 ที่ดีที่สุด เท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว !
Yamaha YZF-R1 2020
การกลับมาของ Yamaha YZF-R1 2020 ที่เปิดตัวครั้งแรกที่ Laguna Seca ในอเมริกา และเผยโฉมครั้งแรกในไทยที่งาน BIG Motor Sale 2019 หากมองดูเผินๆ อาจจะยากที่จะสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ว่ากันตามตรงแล้ว ถือว่าทางค่ายปรับจุดบกพร่องจากเจนเนอเรชั่นก่อนไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแฟริ่ง ที่มีการปรับดีไซน์ใหม่ ให้สามารถจัดระเบียบการไหลเวียนของกระแสลมที่ความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทางค่ายเคลมไว้ว่า Yamaha YZF-R1 2020 มีแอโร่ไดนามิคส์ที่ดีขึ้นอีก 5.3% จากหน้าตาที่หลายคนขนานนามว่า "แมมมอธ" หรือ "กระเบน" ถูกปรับมาให้คล้ายคลึงกับรุ่นน้องอย่าง YZF-R6 ดูแล้วให้ความรู้สึกที่ Sexy มากยิ่งขึ้น ส่วนทางฝั่งรุ่นใหญ่อย่าง Yamaha YZF-R1M 2020 ก็มีการปรับรายละเอียดของแฟริ่งใหม่ โดยเฉพาะการใส่ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์เข้าไปมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตัวรถมีน้ำหนักที่เบาลง และเสริมความดุดันเข้าไปได้มากขึ้นอีกขั้น
ในความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน นี่คือ R1M ที่สวย และดุดันที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว
ไฮไลท์ที่สำคัญของการพัฒนา Yamaha YZF-R1 2020 อย่างแรกเลยก็คือ การเพิ่มระบบ Engine Braking Control ที่สามารถปรับเพิ่ม - ลด การหน่วงของ Engine Braking ขณะที่ลดเกียร์ได้ถึง 3 ระดับ ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยในความเข้าใจของ User ทั่วๆ ไป ก็คงจะคิดว่าปรับให้มี Engine Braking น้อยๆ ให้รถมีอาการไหลได้บ้าง สำหรับการใช้งานหรือขับขี่ทั่วไป และสำหรับการขับขี่ในสนามหรือแข่งขัน ก็ปรับระดับของการหน่วงให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ? ตอนแรกแอบพิมพ์ไว้แล้ว แต่ขออนุญาตนำมาเฉลยตอนท้ายเรื่อง รวมกับฟีลลิ่งในการขับขี่ครับ
Engine Braking Control ฟังค์ชั่นใหม่ที่ช่วยให้ขับขี่ได้เหมาะสมกับความต้องการมากยิ่งขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ ระบบควบคุมการเบรกในโค้ง หรือทางค่ายให้ชื่อว่า Brake Control หน้าที่การทำงาน เทียบกับสิ่งที่ผมเคยเข้าใจก็อารมณ์ประมาณ Cornering ABS นั่นแหละ โดยสามารถปรับการทำงานได้ 2 ระดับ โดยจะมีตัวช่วยประมวลผลอย่าง Inertial Measurement Unit หรือ IMU แบบ 6 แกน ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ช่วยสร้างเสถียรภาพในการควบคุมความเร็วยามเข้าโค้งได้ดียิ่งขึ้น โดยปกติ หากคุณขี่มอเตอร์ไซค์เข้าโค้งและต้องเบรก ตัวรถจะตั้งขึ้นและอาจทำให้เกิดอาการบานโค้ง แต่การมี Brake Control จะช่วยให้การขับผ่านโค้งในขณะที่เบรกเพื่อแต่งความเร็วทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน คิดว่าตัวช่วยนี้ ควรมีไว้ใช้ในยามจำเป็นสำหรับความผิดพลาดจากการเตรียมตัวก่อนเข้าโค้งเท่านั้น เช่น ขับขี่ด้วยความเร็วที่สูงเกินไปจนไม่สามารถเข้าโค้งได้ จึงต้องเลียเบรกเพื่อแต่งอาการ ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเติมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ได้มากยิ่งขึ้น
ขุมพลัง Crossplane CP 4 ของดี...มีเอกลักษณ์
ขุมพลังที่ประจำการใน Yamaha YZF-R1 2020 ยังคงเป็นเครื่องยนต์แบบ Crossplane CP 4 ขนาด 998 ซีซี. DOHC 4 วาล์ว/สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 79.0 x 50.9 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า แรงบิด 113 นิวตัน-เมตร แม้ตัวเลขจะไม่ต่างจากเดิม แต่ขุมพลังสำหรับ R1 2020 เรียกได้ว่าพัฒนาไปอีกขั้น โดยเฉพาะเรื่องของมารฐานไอเสียที่รองรับ Euro 5 เป็นที่เรียบร้อย ภายในเครื่องยนต์มีการอัพเกรดชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนตำแหน่งการวางของหัวฉีด เพื่อให้สามารถจ่ายเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปลี่ยนหัวฉีดเป็นแบบ 10 รู จาก Bosch (จากเดิม 12 รู) รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกลไกภายใน เช่น กระเดื่องวาล์ว แคมชาฟต์ ข้อเหวี่ยง เพื่อให้การหมุนในรอบสูงทำได้อย่างมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น โดยการกลับมาในครั้งนี้ ทาง Yamaha เลือกใช้ชุดคันเร่ง Ride by Wire เป็นหัวใจในการควบคุม ซึ่งข้อดีคือ สามารถเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน มีความละเอียด และสมูทมากยิ่งขึ้น
ด้านระบบขับเคลื่อนของ Yamaha YZF-R1 2020 ยังคงเป็นชุดเกียร์ธรรมดาแบบ 6 สปีด พร้อม Quick Shiter ที่สามารถใช้งานได้ทั้งเพิ่ม - ลดเกียร์ ส่วนโช้กอัพหน้าที่ให้มาเป็นของสังกัด KYB ขนาดแกน 43 มม. สามารถปรับเซ็ตได้อย่างหลากหลาย ทั้งพรีโหลด รีบาวน์ และคอมเพรสชั่น เช่นเดียวกับในด้านหลังแบบ Mono Shock ที่สามารถปรับได้อย่างเต็มระบบเช่นกัน ระบบเบรกเป็นของจากแบรนด์ที่คุ้นเคย ด้วยปั๊มบนจาก Nissin จับคู่คาลิเปอร์หน้า Advics แบบเรเดียลเม้าท์ 4 POT พร้อมจาน 320 มม. ส่วนด้านหลังเป็นแบบ 1 POT พร้อมจาน 220 มม. ยางที่ให้มาเป็นของ Bridgestone Battlax RS11 หน้า 120/70 R17 หลัง 190/55 R17
ด้วยฟังค์ชั่นต่างๆ ที่หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการจะเข้าถึงฟังค์ชั่นเหล่านั้นได้ก็คือ ระบบแสดงผลที่มีประสิทธิภาพในการรองรับ ซึ่ง Yamaha YZF-R1 2020 มาพร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ TFT ซึ่งนอกจากจะแสดงค่าการขับขี่ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนแล้ว ยังช่วยให้การปรับเซ็ตฟังค์ชั่นการใช้งาน รวมถึงระบบอิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ที่มีมาให้ใน R1 2020 ได้อย่างละเอียด และใช้งานง่ายอีกด้วย
สำหรับการทดลองขับขี่ในครั้งนี้ ทาง Yamaha จัดหนักด้วยการพาสื่อมวลชนชั้นนำไปขี่กันถึงสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต หลังจากที่รองรับการแข่งขันระดับโลกอย่าง MotoGP มาหมาดๆ โดยการทดลองขับขี่ Yamaha YZF-R1 2020 ในครั้งนี้ ถือเป็นกลุ่มที่ 2 ของโลก (ครั้งแรกจัดขึ้นที่ Jerez ประเทศสเปน) และเป็นครั้งแรกในเอเซีย ที่สื่อมวลชนได้ทดลองขี่ R1 เวอร์ชั่นล่าสุด ซึ่งในการทดลองขี่ แบ่งออกเป็น 2 เซ็กชั่นหลักๆ ในเซ็กชั่นแรก เป็นการขี่เพื่อลองฟีลลิ่ง และสัมผัสความแตกต่างของโหมดการทำงาน รวมถึงการตอบสนองในระดับที่แตกต่างกัน
สัมผัสแรกของผู้ขี่จาก BoxzaRacing กับ Yamaha YZF-R1 2020 ภาพจำเดิมๆ ที่เคยมีกับตัวปี 2015 ที่สูงมาก ก้มมาก พักเท้ายกสูงจนเมื่อยมาก หายไปเมื่อได้ขี่เวอร์ชั่นนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากความเคยชินและประสบการณ์ที่มากขึ้นตามลำดับ แต่อีกส่วนก็ต้องยกเครดิตให้กับทีมออกแบบ ที่ทำรถออกมาได้กลมกล่อมมากขึ้น ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า ทางค่ายมีการปรับตำแหน่งของแฮนด์ให้สูงขึ้นมาอีกเล้กน้อย ซึ่งโดยรวมถือว่าตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย โดยไม่เสียคาแร็กเตอร์ความเป็นสปอร์ตระดับแนวหน้า ความสูงของเบาะ 855 มม. กับน้ำหนัก 201 กก. ของ Yamaha YZF-R1 2020 ไม่รู้สึกว่าสร้างภาระให้กับผู้ขี่ที่สูง 168 ซม. หนัก 62 กก. มากนัก คร่อมเล่นๆ สัมผัสถึงบาลานซ์ที่ดีของรถได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งสตาร์ทเครื่อง ออกตัวจนรถมีความเร็ว ยิ่งรู้สึกได้ถึงความง่ายในการควบคุม หากนำมาใช้งานทั่วๆ ไป แต่อย่างไรแล้ว แก่นแท้แห่งประสิทธิภาพของความเป็น Yamaha YZF-R1 2020 ก็ยังคงเหมาะกับการวาดลวดลายในสนาม โดยหลังจากที่ได้ลองความแตกต่างของการตอบสนองที่ทางทีมงานจาก Yamaha Riders' Club เซ็ตไว้ให้ ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ในแต่ละเลเวลของการปรับตั้ง สร้างความแตกต่างในการขับขี่ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการตอบสนองของคันเร่ง ที่ส่งผลเรื่องความร้อนแรงในการส่งถ่ายพละกำลัง รวมไปถึงค่า Engine Brake ที่สามารถปรับเซ็ตได้ถึง 3 ระดับ ซึ่งมาถึงจุดนี้ คงได้เวลาที่จะเฉลย !
ข้อคิดเรื่องของ ระบบ Engine Braking Control ที่ติดค้างเอาไว้ หลังจากที่ BoxzaRacing มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเดชา ไกรศาสตร์ (พี่ตั้น) นักแข่งชั้นนำและหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนของยามาฮ่า ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ สำหรับการแข่งขัน หรือขับขี่ในสนามแข่ง การปรับระดับการทำงานของ Engine Braking ถือว่าเป็นฟังค์ชั่นที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดความเร็ว หรือจัดการกับเกียร์เพื่อเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับการออกโค้ง โดยพี่ตั้นแนะนำว่า ในการแข่งขันหรือขับขี่ในสนามแข่งที่ต้องมีการเพิ่มหรือลดความเร็วอย่างเฉียบพลันต่อเนื่อง การปรับแรงหน่วงหรือ Engine Braking ให้อยู่ในระดับที่น้อย จะช่วยลดแรงกระชากจากเครื่องยนต์ หากมีการตบรวบเพื่อลดเกียร์อย่างรวดเร็ว เช่น ในการที่จะเข้าโค้ง 3 ของสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต แน่นอนว่าการจะต้องลดความเร็วจากระดับกว่า 280 กม./ชม. ให้เหลือต่ำกว่า 100 กม./ชม. นั้น นอกจากจะต้องใช้เบรกอย่างหนัก และใช้ Engine Braking เข้าช่วยแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การตบรวบเกียร์อย่างรวดเร็วและโหดร้ายจาก 5 - 4 - 3 ลงมา 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดการหน่วงมหาศาลจนทำให้รถอาจเสียอาการ หรือขาดความสมูทในการไหลเข้าโค้ง แต่...หากปรับระดับการทำงานของ Engine Braking ให้ต่ำลง ก็จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของการทรงตัวในขณะที่ลดความเร็วลงอย่างเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่าระดับของแรงหน่วงจะน้อยจนทำให้เบรกไม่อยู่ เพราะการตบรวบเกียร์โหดๆ แบบนี้ มีแรงในการฉุดมากพออยู่แล้ว ซึ่งหากสมรรถนะของรถไม่ถึงขั้น อาจสร้างปัญหาให้ผู้ขับขี่ได้อย่างแน่นอน
มาถึงในเซ็กชั่นที่ 2 เมื่อทำความคุ้นเคยกับตัวรถเป็นที่เรียบร้อย ความสนุกในการขับขี่นั้นเริ่มมา โดยสิ่งหนึ่งที่ BoxzaRacing ถือว่าเป็นจุดเด่นของ Yamaha YZF-R1 2020 ความคล่องในการเลี้ยว การเข้าโค้งรูปแบบต่างๆ ในสนามช้างฯ นั้น ถือว่าทำได้อย่างแนบเนียน ผู้ขับขี่แค่ทำหน้าที่ในการควบคุมอย่างไม่ประมาท จะขาด จะเกินไปบ้าง แต่ด้วยความสามารถที่เหนือชั้นของตัวรถ จะช่วยทำให้ผู้ขับขี่ยังคงรู้ว่า ประสิทธิภาพในการควบคุมนั้นยังอยู่ในมือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเติมเต็มความั่นใจในการขับขี่ได้อีกไม่น้อย สรุป สั้นๆ คือ Yamaha YZF-R1 2020 นั้นขี่ง่าย เพียงมีทักษะสำหรับการขับขี่ในสนามเพียงระดับหนึ่ง (จะเร็วหรือช้า...ก็ขึ้นอยู่กับทักษะที่มีในมือแล้ว) พละกำลังของเครื่องยนต์ถือว่ามีออกมาให้ใช้แบบไม่มีหมด แม้การตอบสนองของคันเร่ง Ride by Wire จะทำได้นุ่มนวลกว่ารุ่นก่อน แต่ในยามต้องจริงจังกับการทะยานสู่ย่านความเร็วสูง ก็สามารถแสดงอานุภาพออกมาได้อย่างน่าสะพรึง การต่อเกียร์ในแต่ละครั้ง Quick Shifter ที่ให้มาจากโรงงาน ทำหน้าที่ได้สมูท มีความต่อเนื่อง และรวดเร็วมาก แทบไม่มีอาการกระตุกให้เห็น จากที่ผมเคยชื่นชมว่ารถแบรนด์ยุโรปอินดี้ค่ายหนึ่งทำได้ดีมากๆ แล้ว R1 2020 นั้น ก็ทำได้แบบไร้ที่ติทั้งเตะขึ้นและตบลงเช่นกัน ยิ่งเมื่อผสานกับการทำงานของ Engine Brake ที่สามารถเลือกระดับการทำงานได้ ยิ่งช่วยให้การรักษาความเร็วในการไหลเข้าโค้ง ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทัศนคติในการขับขี่ที่ดี นับเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าทักษะ หรือความสามารถเสียอีก
สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ทัศนคติที่ดีในเรื่องของความไม่ประมาท อันส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยในการขับขี่ บางสถานการณ์...ความกลัว ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นสิ่งที่ชวนให้เราตระหนักถึงพื้นฐานด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่ผมได้สัมผัสกับ Yamaha YZF-R1 2020 แม้ว่าจะพอจะมีทักษะสำหรับการขับขี่ในสนามอยู่บ้าง แต่ด้วยความแรงในระดับ 200 แรงม้า ที่พร้อมพาคุณทะยานถึงความเร็วในระดับกว่า 280 กม./ชม. ได้ง่ายๆ การจะเปิดคันเร่งแต่ละครั้ง โดยส่วนตัวผมล้วนทำภายใต้ความรู้สึกที่ต้องมั่นใจ ด้วยความแรงในระดับนี้ เชื่อเถอะว่า...มันทำให้โค้ง 2 ในสนามช้างฯ ที่หลายๆ คนไม่เคยเห็นในสายตา กลับมาเป็นโค้งที่มีตัวตนอยู่จริง และทำให้คุณเหวอเอาง่ายๆ
ส่งท้ายกับอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบในความเป็น Yamaha YZF-R1 2020 ก็คือ เรื่องของระบบเบรก ที่ช่วยให้ชีวิตง่ายในการสยบความบ้างคลั่งของฝูงม้าก่อนที่จะเทโค้ง แม้ของที่ให้มาอาจดูไม่ใช่แบรนด์ที่หวือหวาเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมคลาสในพิกัดเดียวกัน แต่หากวัดกันด้วยเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ต้องยอมรับเลยว่า เบรกเซ็ตนี้ทำงานได้เจ๋งไม่เป็นรองใคร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงต้องยอมรับว่า การมีระบบอิเล็คทรอนิคคส์มาช่วยเติมเติมประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สามารถงัดเอาศักยภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาใช่้งานได้อย่างเต็มทีเลยจริงๆ
Yamaha YZF-R1 2020 จะว่าไปแล้ว นี่อาจไม่ใช่สปอร์ตที่เจ๋งที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่...ด้วยระดับราคาและประสิทธิภาพในการขับขี่ที่อยู่ในระดับหัวแถว ถือว่าเป็นสปอร์ตที่มีความคุ้มค่าและเพียบพร้อมที่สุดรุ่นหนึ่งในโลก แต่หากยังรู้สึกไม่พอ Yamaha YZF-R1M 2020 ผู้มาพร้อมเครื่องเคียงที่จัดเต็มกว่า ก็น่าจะเป็นตำตอบในใจของสายซิ่งหลายๆ คนอย่างแน่นอน จัดเลย...ไม่ต้องคิดเยอะ ! และที่สำคัญ ทาง Yamaha Riders' Club พร้อมที่จะส่งมอบให้กับลูกค้ากว่า 40 คัน ที่จับจองไว้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป !
บก. Pajingo รายงาน #มันเป็นคาแร็กเตอร์
ราคา
-Yamaha YZF-R1 ปี 2020 ราคาแนะนำ 849,000 บาท
-Yamaha YZF-R1M ปี 2020 ราคาแนะนำ 1,149,000 บาท