ระบบเบรค ABS ในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในระบบมาตรฐาน ที่ได้รับการติดตั้งเข้ากับรถมอเตอร์ไซค์ในหลายๆ ประเภทตั้งแต่รถเล็กจนถึงรถบิ๊กไบค์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เจ้าระบบเบรค ABS ที่เราเริ่มรู้จักกันนั้น มีส่วนช่วยในเรื่องของความปลอดภัยได้ดีแค่ไหน และมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ไปจนถึงวิธีใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยอย่างที่สุด วันนี้ BoxzaRacing จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกับเจ้าระบบเบรค ABS กันในช่วงของความรู้เรื่องรถกันครับ...ตามมาเลย
เราจะมาทำความรู้จักกันกับระบบเบรค ABS กันก่อนว่า แท้จริงแล้วมันคือ ระบบอะไร ทำงานอย่างไร เดี๋ยวเราจะอธิบายกันแบบคร่าวๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ระบบเบรค ABS ชื่อเต็ม คือ Anti-Lock Brake System ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขอาการล้อล็อคทั้งหน้าและหลัง เมื่อใช้เบรคหนักในสภาวะถนนพื้นเปียกหรือมีความลื่นกว่าปกติ โดยการทำงานของระบบ ABS จะเป็นการทำงานผสมผสานระหว่างระบบกลไก (ชุดปั๊มเบรก) และระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เซ็นเซอร์และกล่องควบคุม) ซึ่งในรูปด้านบนนั้น เราจะเห็นแผ่นเซ็นเซอร์และตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับที่จะมีอยู่ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง
พอถึงสถานการณ์ที่ต้องใช้เบรคหนักอย่างกระทันหัน เมื่อเรากำเบรคหรือเหยียบแป้นเบรคด้วยแรงที่สูงเกินจำเป็น ตัวเซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณไปยังกล่องควบคุม จากนั้นกล่องควบคุมสั่งการโดยอาศัยการทำงานผ่านแรงดันน้ำมันเบรค เพื่อดันผ้าเบรคเข้าไปจับดิสก์เบรคและคลายตัวออกสลับกันเป็นจังหวะเพื่อที่จะไม่ให้ล้อล็อคจนกว่ารถจะหยุด และถ้าถามว่าผ้าเบรคจับและคลายตัวสลับกันเป็นจังหวะที่ว่านั้น มีจังหวะการจับและคลายตัวจากดิสก์เบรคถี่ขนาดไหน ในจุดนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตที่มีการเซ็ตค่ามาจากโรงงานครับ และนี่คือการทำงานคร่าวๆ ในแบบฉบับเข้าใจง่ายของระบบเบรค ABS ครับ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์สมรรถนะสูงในหลายๆ แบรนด์ได้มีการพัฒนาอัพเกรดการทำงานของระบบเบรค ABS ขึ้นไปอีกขั้นในชื่อ Cornering ABS โดยการทำงานคร่าวๆ คือ ถ้ามองจากในภาพด้านบนแล้ว ระบบ Cornering ABS จะมีส่วนช่วยควบคุมการเบรคขณะเข้าโค้ง โดยที่ไม่ทำให้รถเสียอาการและสามารถควบคุมรถได้ดีเหมือนเดิมในขณะเข้าโค้ง แต่รถที่ไม่มีระบบ Cornering ABS หรือไม่มี ABS เลย เมื่อทำการเบรคในขณะเข้าโค้ง อาจทำให้เสียการควบคุมได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบ Cornering ABS จะมีการส่งสัญญาณจากเซ็นเซอร์ ABS ที่ล้อหน้า-หลัง และถูกส่งไปยังระบบประมวลผล IMU 6 แกน เพื่อทำหน้าที่สั่งการทำงานต่อไป ซึ่งในปัจจุบันระบบประมวลผล IMU 6 แกน จะได้รับการติดตั้งในรถบิ๊กไบค์สมรรถนะสูงเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาอีกก้าวที่ทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้นครับ
ต่อมากับข้อดีและข้อเสียของระบบเบรค ABS ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมีความเชื่อที่ว่า รถที่มีการติดตั้งระบบเบรค ABS จะทำให้เบรคดีกว่าเดิม และในคำว่าเบรคดีกว่าเดิมนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะคิดว่าเบรคทีเดียวรถหยุดสนิท ต้องขอบอกเลยครับว่าคุณกำลังเข้าใจผิด ก็อย่างที่เราได้พูดถึงกันไปในด้านของการทำงานของระบบเบรค ABS เมื่อข้างต้นว่า ระบบเบรค ABS ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขอาการล้อล็อคเมื่อใช้เบรคหนัก บางคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าล้อล็อค คือ อะไร ถ้าพูดกันในภาษาบ้านๆ ก็คือ เบรคจนล้อลากนั่นเองครับ ซึ่งข้อดีของ ABS คือ เมื่อขับขี่มาบนพื้นถนนที่ลื่น เปียก แฉะแล้วใช้เบรคกระทันหัน ระบบเบรค ABS จะช่วยควบคุมแรงเบรคเพื่อไม่ให้ล้อล็อคทันที ส่งผลให้สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของตัวรถได้ตามที่ต้องการ ไม่มีอาการหน้าทื่อ เหมือนรถที่ไม่มีระบบ ABS แต่ในด้านของข้อเสียคือ ระบบเบรก ABS จะมีระยะเบรคที่ยาวกว่าการใช้เบรคธรรมดา พูดง่ายๆ ก็คือ ABS เบรคอยู่สนิทแต่อาจต้องเผื่อระยะเพิ่มขึ้นในบางสถานการณ์ เนื่องจากวัตถุประสงของระบบนี้ คือ เพื่อใช้ในการบังคับควบคุมรถ สำหรับการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในยามฉุกเฉิน ซึ่งต่อไปเราจะเชื่อมไปถึงวิธีการใช้เบรก ABS อย่างไรให้ปลอดภัยและถูกวิธี
1.สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงการใช้เบรค ABS เลยก็คือ "สติ" ถ้าผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานของระบบเบรค ABS นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะตกใจกันไม่เบา เพราะเมื่อระบบเบรค ABS เริ่มทำงานนั้น ก้านเบรคหรือแป้นเบรคจะมีการดันตัวกลับในจังหวะที่ผ้าเบรคคลายตัวออกจากดิสก์เบรค จึงทำให้รู้สึกเหมือนรถจะเบรคไม่อยู่ ซึ่งในจุดนี้ผู้ขี่ควรตั้งสติให้ดีกำเบรคให้แน่นและเพ่งไปที่การคอนโทรลรถจะดีที่สุดครับ
2.การใช้ Engine Brake เข้ามาช่วยในกรณีของรถมีเกียร์ เพราะเมื่อใช้ Engine Brake แล้วนั้น จะทำให้รถเกิดแรงเฉื่อยในทิศทางลบที่เกิดจากการฉุดของเครื่องยนต์ และลดการใช้แรงเบรคจนระบบ ABS แทบไม่ต้องทำงาน ซึ่งจะทำให้รถเบรคอยู่สนิทในระยะที่สั้นลงกว่าตอนที่ระบบ ABS ทำงานก็เป็นได้ แต่ควรที่จะได้รับการฝึกฝนจะเป็นการดีที่สุด ซึ่ง Engine Brake นั้น สามารถใช้ได้กับรถที่มีระบบ ABS และไม่มี ABS ได้ทั้งคู่ครับ
3.ไม่ควรปล่อยเบรคแล้วกำเข้าไปใหม่ ในขณะที่ระบบ ABS เริ่มทำงานแล้ว ด้วยเหตุเพราะว่า เมื่อเราใช้เบรคหนักจนระบบ ABS ทำงาน กล่องควบคุมจะเริ่มสั่งการโดยจะมีการควบคุมจังหวะการบีบและคลายตัวของผ้าเบรคจากแรงดันน้ำมันเบรค ซึ่งถ้าเราปล่อยเบรคแล้วกำเข้าไปใหม่ ในระหว่างที่ ABS กำลังทำงานอยู่ จะทำให้แรงดันน้ำมันเบรคต่ำลงและทำให้ผ้าเบรคคลายตัวออกจากดิสก์เบรคอย่างเต็มที่ ทำให้ระยะเบรคยาวกว่าเดิมจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ฉะนั้นเมื่อกำเบรคหรือเหยียบเบรคแล้วควรใช้เบรคจนกว่ารถจะหยุดนิ่งถึงปล่อยเบรคออกจะดีที่สุดครับ
และนี่คือ เรื่องราวของระบบเบรค ABS ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับรถมอเตอร์ไซค์บ้านเราในปัจจุบัน และผู้ใช้รถควรศึกษาไว้เป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะไม่เข้าใจผิดในเรื่องการทำงานของระบบ และการใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัยครับ ในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำเกร็ดความรู้เรื่องใดมาฝากกันอีก สามารถติดตามกันได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com