เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 22 เมษายน 2563 - 15:36

เครื่องยนต์ Bigbike เพราะอะไร ? บล็อคเดียวกัน ความจุเท่ากัน จึงให้แรงม้า และการตอบสนองที่ต่างกัน ?

 

           แม้ว่าทุกวันนี้ กระแสของการเล่น Bigbike จะเบาบางลงไปเนื่องจากพิษของสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ก็ยังถือว่ามีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยทียังคงหลงไหลในรถมอเตอร์ไซค์ประเภทนี้ โดยในทางตรงข้ามกัน บางคนที่พอจะมีกำลังซื้อสักหน่อย กลับถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ครอบครองบิ๊กไบค์ในค่าตัวและเงื่อนไขที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น หลังจากที่ค่ายมอเตอร์ไซค์แบรนด์ต่างๆ ทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม กันอย่างจุใจ ชนิดที่ว่า ให้เยอะแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

บิ๊กไบค์หลายๆ รุ่น ขี่แล้ว Pride มากครับ...โดยเฉพาะคันนี้

 

            สิ่งที่หลายๆ คนเข้าในเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ก็คือ การเป็นรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ๆ มีความเท่และให้ความรู้สึกที่ดูภูมิฐานในขณะขับขี่ โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องมาคู่กับมอเตอร์ไซค์บิ๊กไซค์บิ๊กไบค์ก็คือ ขุมพลังไซส์ใหญ่ๆ มีความจุสูงๆ ให้พละกำลังในการขับเคลื่อนได้อย่างจุใจ เริ่มตั้งแต่ระดับ 500 - 650 ซีซี. หรือที่ได้รับความนิยมสุดๆ อย่างรถบิ๊กไบค์ในคลาส 1,000 ซีซี. ซึ่งมันมีเรื่องหนึ่งที่ยังคงค้างอยู่ในใจ นักเล่นหลายๆ ท่านเคยสงสัยกันไหมว่า สำหรับบิ๊กไบค์บางรุ่น ที่ใช้เครื่องยนต์บล็อคเดียวกัน ความจุเท่ากัน เช่น Ducati Panigale V4 และ Ducati Streetfighter V4 จึงให้แรงม้า และการตอบสนองที่ต่างกัน ?

 

Ducati Panigale V4 S ให้กำลัง 214 แรงม้า

 

Ducati Streetfighter V4 ให้กำลัง 208 แรงม้า 

 

 

           ไม่เพียงแค่ขุมพลังของค่าย Ducati ที่ทำให้เราเกิดข้อสงสัย แต่แบรนด์ชั้นนำอย่าง Yamaha (Yamaha YZF-R1 vs Yamaha MT-10) หรือ BMW (ฺBMW S1000RR vs BMW S1000R vs BMW S1000XR) ต่างโมเดล แต่ใช้เครื่องยนต์บล้อคเดียวกัน ก็สร้างข้อสงสัยอันนี้ให้เราได้เช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องนี้สามารถแยกย่อยคำอธิบายได้ในหลายปัจจัย ทาง BoxzaRacing จะชี้แจงให้เข้าใจแบบง่ายๆ ด้วยประการฉะนี้

 

Yamaha YZF-R1 vs Yamaha MT-10 สองพี่น้องสายเลือด Crossplane CP4

 

ประเภทและรูปแบบการใช้งานของตัวรถ 

          แน่นอนว่ามอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์แต่ละรุ่น แต่ละคัน ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการออกแบบที่ต่างกัน เช่น ที่ BoxzaRacing ยกตัวอย่าง BMW S1000RR vs BMW S1000R vs BMW S1000XR ที่มาในรูปแบบสปอร์ตไบค์, เนคเก็ตไบค์ และทัวริ่งไบค์ ตามลำดับ รถแต่ละประเภท แม้จะมาพร้อมเครื่องยนต์บล้อคเดียวกัน แต่กลับต้องการคุณลักษณะในการขับขี่ที่ต่างกัน โดยรถสปอร์ต ต้องการพละกำลังสงสุด เพื่อให้สามารถรีดพลังในขณะที่ขับขี่ในสนามแข่ง โดยไม่ได้ซีเรียสเรื่องพละกำลังของเครื่องยนต์ในรอบต่ำมากนัก ตรงกันข้ามกับมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบทัวริ่งและเนคเก็ตไบค์ ที่เน้นเรื่องการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลัก อาจไม่ได้เน้นเรื่องแรงม้าสูงสุดมากนัก แต่หากต้องการการตอบสนองที่ดี เรียกกำลังออกมาใช้ได้ตั้งแต่ในรอบต่ำ เพื่อการขับขี่ที่สะดวก คล่องตัว และขับขี่ได้ง่าย

 

เครื่องบล็อคเดียวกัน จะแรงมาก แรงน้อย หรือต้องการคาแร็กเตอร์แบบไหน ชิ้นส่วนข้างในและการปรับจูน คือ ตัวกำหนด

 

การออกแบบและกำหนดองค์ประกอบของเครื่องยนต์

           ด้วยข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ในเรื่อง ประเภทและรูปแบบการใช้งาน ส่งผลให้ค่ายผู้ผลิตต้องแยกย่อยในการสร้างเครื่องยนต์บล็อคเดียวกันออกมาในหลากหลายรูปแบบ โดยปรับเปลี่ยนในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์อย่างแค็มชาฟต์, วาล์ว, วัสดุที่ใช้ภายในเครื่องยนต์, การปรับโปรแรมการทำงานในกล่อง ECU รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบข้างเคียงเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบในการใช้งาน เช่น รถสปอร์ตต้องการแรงม้าสูงสุด การออกแบบเครื่องยนต์ก็ต้องใช้เทคโนโลยีสูงสุดตามไปด้วย ซึ่งโดยพื้นฐาน การจะทำแรงม้าให้ได้สูงกว่า ในเครื่องยนต์ความจุเท่ากันก็คือ ประสิทธิภาพการสร้างกำลังในรอบปลาย ยิ่งรอบสูงยิ่งต้องสร้างกำลังออกมาได้มาก โดยต้องจัดองค์ประกอบข้างเคียงให้เหมาะสมด้วย เช่น การเลือกใช้แคมชาฟต์องศาสูง (ข้อเสีย คือ กำลังและแรงบิดในรอบต่ำอาจด้อยลงไป), การเลือกใช้วาล์วที่ทำจากวัสดุไทเทเนี่ยม เพื่อความทนทานต่อการใช้งานในระยะยาว (ต้นทุนในการผลิตสูง) ตรงข้ามกับรถในประเภทที่ต้องการแรงบิดเข้าว่า ซึ่งจะเลือกใช้แค็มชาฟต์ที่มีองศาต่ำลง เพื่อให้อากาศสามารถเข้าได้มากในรอบการทำงานไม่สูงนัก 

 

1 เครื่องยนต์ ในมอเตอร์ไซค์ 3 แบบ 3 สไตล์ รูปแบบการใช้งานคือ ตัวกำหนด

 

การจัดสรรต้นทุนในการผลิต

           สิ่งแรกที่จะพูดถึงในหัวข้อนี้ คือ การเลือกใช้เครื่องยนต์ในบล็อคเดียวกันกับรถหลายๆ รุ่นนั้น ย่อมช่วยลดต้นทุนในการออกแบบไปได้หลายขุม ก่อนจะเอาเครื่องยนต์บล็อคชั้นๆ มาต่อยอดให้เหมาะสมกับรถแต่ละรูปแบบภายในค่าย เช่นเดิม...สืบเนื่องมาจาก 2 ประการแรก ที่ BoxzaRacing ได้นำเสนอไป ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องของต้นทุนในการผลิต บิ๊กไบค์บางคัน บางรูปแบบ ในค่ายเดียวกัน แม้ว่าจะให้พละกำลังและมีสไตล์ที่ต่างกัน แต่กลับมีราคาที่ใกล้เคียงกัน นั่นป็นเพราะเหตุผลด้านปัจจัยในการจัดสรรต้นทุน เช่น รถในรูปแบบสปอร์ต ย่อมเน้นการลงทุนไปหนักอยู่ที่เครื่องยนต์อันเป็นหัวใจหลัก (สืบเนื่องจากเรื่องต้นทุนด้านวัสดุภายในเครื่องยนต์ที่สูงกว่า) ส่วนรถแนวทัวริ่งไบค์ อาจมีการเฉลี่ยต้นทุนไปในจุดต่างๆ อย่างไม่ต่างกันแบบมีนัยสำคัญ โดยสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องเน้นเป็นพิเศษก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีในการเดินทาง ที่ต้องเน้นเรื่องความสะดวกสบายของู้ขับขี่เป็นหลัก ซึ่งด้วยเหตุผลเหล่านี้ นับเป็นการบ้านข้อใหญ่ของค่ายมอตอร์ไซค์ต่างๆ ที่ต้องกระจายงบอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความพึงพอใจกับผู้บริโภคได้ในระดับสูงสุด 

 

KTM 1290 Super Duke Bro !

 

           ที่กล่าวมาล้วนเป็นเหตุผลในเบื้องต้นนการออกแบบ ซึ่งพอจะเป็นคำตอบในข้อสงสัยที่ว่า เพราะอะไร...Bigbike เครื่องยนต์บล็อคเดียวกัน ความจุเท่ากัน จึงให้แรงม้า และการตอบสนองที่ต่างกัน ? ให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเลือกบิ๊กไบค์มาใ้งานสักคัน นอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว เราควรดูความเหมาะสมว่าบิ๊กไบค์คันนั้นๆ เหมาะกับรูปแบบที่เราต้องการจะนำมาใช้งานจริงๆ ด้วยหรือเปล่านะครับ เพื่อให้สามารถขี่รถคันนั้นได้อย่างมีความสุขกับมัน

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook