เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 27 มีนาคม 2563 - 11:06

กันสะบัดไฟฟ้า vs. กันสะบัดมือหมุน ไอเท็มสำคัญแบบไหนแน่ ที่เจ๋งและตอบโจทย์เต็มฟิลลิ่งที่สุด ?

 

          สวัสดีครับแฟนๆ ชาว BoxzaRacing มาพบกันอีกแล้วในคอลัมน์ ความรู้เรื่องรถ ที่จะมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของชาวไบค์เกอร์ และในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในชิ้นสำคัญของการควบคุมรถเลยก็ว่าได้กับเจ้า กันสะบัด ที่เหมือนจะเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นของ กันสะบัดไฟฟ้า และ กันสะบัดแบบแมนนวล หรือที่เรียกว่า กันสะบัดแบบมือหมุน โดยไบค์เกอร์หลายๆคนต่างตั้งคำถามกันขึ้นมาว่า ระหว่างกันสะบัดไฟฟ้ากับกันสะบัดมือหมุน แบบไหนกันแน่ที่ดีที่สุด ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด เดี๋ยวเราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันในคอลัมน์นี้ครับ

 

กันสะบัดไฟฟ้าของ Honda CBR1000RR ปี 2004

 

กันสะบัดไฟฟ้าของ Kawasaki Ninja ZX-10R

 

          เราจะมาเริ่มทำความรู้จักกับกันสะบัดไฟฟ้าแบบคร่าวๆ เข้าใจง่ายๆ กันก่อนครับ กันสะบัดไฟฟ้านั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะถูกติดตั้งกับตัวรถมาจากโรงงาน และมักจะอยู่ในรถสปอร์ตไบค์หรือรถบิ๊กไบค์ที่มีพละกำลังสูง ควบคุมยากกว่าปกติเสียส่วนใหญ่ และครั้งแรกที่กันสะบัดไฟฟ้า เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในรถบิ๊กไบค์ คือก ารติดตั้งใน Honda CBR1000RR 2004 นั่นเอง ซึ่งการทำงานของกันสะบัดไฟฟ้านั้น จะคำนวณความหนืดจากความเร็วที่ใช้ โดยผ่านการประมวลผลสั่งการจาก ECU และในยุคนั้น การประมวลผลอาจจะไม่ละเอียดเท่าเทคโนโลยีสมัยนี้ แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการปรับค่าความหนืดด้วยมือตัวเอง

 

กันสะบัดแบบมือหมุน Ohlins

 

กันสะบัดมือหมุน Hyperpro

 

          แต่ก็ยังมีข้อเสียอีกของกันสะบัดไฟฟ้า คือ สำหรับการขับขี่ในสนามแข่งของสายสปอร์ตแล้ว ในบางครั้งกันสะบัดไฟฟ้า ไม่อาจตอบโจทย์ในเรื่องความหนืดแบบดั่งใจสั่งตามที่ผู้ขี่ต้องการได้ เพราะในการขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูงนั้น ผู้ขี่ต้องการความหนืดของกันสะบัดที่เกินกว่าค่าความหนืดของกันสะบัดไฟฟ้าที่คำนวณมาให้ รวมถึงในหลายๆ ครั้ง กันสะบัดไฟฟ้ายังคงต้องใช้เวลาในการประมวลผล (แม้เพียงเสี้ยว วิ.) แต่ถือว่ามีผลต่อการขับขี่อย่างมาก ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่า ทำงานได้ไม่ทันในการใช้งาน เพราะฉะนั้นในจุดนี้ กันสะบัดแบบมือหมุน จึงเข้ามามีบทบาทในการใช้งานต่อนักขี่ที่ต้องการความหนืดที่สามารถหมุนปรับระดับความหนืดได้ตามใจสั่ง หรือมีความเสถียรในระดับสูง โดยไม่ต้องรอให้ ECU ประมวลผล

 

 

          แต่ก็ใช่ว่ากันสะบัดแบบมือหมุนจะมีแต่ข้อดี ซึ่งข้อเสียของ กันสะบัดมือหมุน คือ หากตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ยังไม่เชี่ยวชาญและไม่คุ้นชินพอกับการใช้งานของกันสะบัดมือหมุนแล้วล่ะก็ ขอบอกเลยว่าเป็นดาบสองคมเลยก็ว่าได้ และที่บอกว่าเป็นดาบสองคม นั่นก็คือ หากผู้ใช้รถติดตั้งกันสะบัดแบบมือหมุนเข้าไป แต่ยังไม่คุ้นชินกับการปรับระดับและยังไม่ศึกษาการใช้งานให้ดีพอ หากเกิดปรับระดับผิดพลาดจนถึงขั้นหนืดสุด หรืออาจจะปรับหนืดไว้ในสถานการณ์ที่ใช้ความเร็วสูง แต่ดันหลงลืมหมุนกลับไปให้คอเบาเหมือนเดิม และกลับมาใช้งานขับขี่ในเมืองหรือที่คับแคบ อาจทำให้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันเนื่องจากไม่เชี่ยวชาญพอที่จะปรับระดับความหนืดให้พอดีสำหรับการใช้งานในสถานการณ์นั้นๆ 

 

 

          หลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลคร่าวๆ แบบเข้าใจง่ายของกันสะบัดทั้ง 2 รูปแบบ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กันสะบัดไฟฟ้า และ กันสะบัดมือหมุน รวมไปถึงข้อดีและข้อเสีย หวังว่าไบค์เกอร์หลายๆ คนอาจจะพอรู้คำตอบแล้วใช่ไหมครับว่า กันสะบัดรูปแบบใดที่จะตอบโจทย์ให้กับการใช้งานของรถคู่ใจของคุณมากที่สุด เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้ ถ้าใช้ให้เป็นจะเป็นผลดีมากๆ กับการควบคุมรถ แต่ถ้าไม่ศึกษาให้ดีพอแล้วล่ะก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้เลยทีเดียวครับ ฉะนั้นควรศึกษาอย่างละเอียดก่อนการใช้งานทุกครั้งนะครับ และในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำความรู้เรื่องใดมาฝากกันอีก สามารถติดตามได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน...สวัสดีครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook