ว่าด้วยเรื่องการคอนโทรลรถในความเร็วสูง หรือในสภาวะเกินการควบคุมด้วยมือทั้งสองข้าง จึงกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะกับไบค์เกอร์บางท่านที่เพิ่งเริ่มต้นขี่รถที่มีพละกำลังสูงและควบคุมยาก จึงทำให้โลกนี้ได้ให้กำเนิดไอเท็มที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการช่วยคอนโทรลรถเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ยากเกินจะควบคุมรถนั่นก็คือ กันสะบัด แต่ก็เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นชินเป็นอย่างดีกับอุปกรณ์เสริมชิ้นนี้ แต่หารู้ไม่ว่าหน้าที่การทำงานที่แท้จริงของมันแล้วเป็นอย่างไร วันนี้ BoxzaRacing ในคอลัมน์ ความรู้เรื่องรถ จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับอรรถประโยชน์ของเจ้า กันสะบัด กันครับ
กันสะบัด...หน้าที่ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ แบบเผินๆ ก็ตามชื่อเลยครับ แต่ถ้าเราเป็นไบค์เกอร์ตัวจริงแล้วล่ะก็ เราต้องทำความเข้าใจกับอุปกรณ์เสริมชิ้นสำคัญเหล่านี้ให้ลึกซึ้ง ถึงจะเป็นประโยชน์กับเราและตัวรถครับ โดยปกติแล้ว กันสะบัด มักจะไม่ค่อยมีการติดตั้งมาจากโรงงานให้กับรถเสียเท่าไหร่ นอกเสียจากจะเป็นรถ Superbike, SuperSport หรือรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูงประเภทอื่นๆ ที่มีการติดตั้งกันสะบัดไฟฟ้ามาให้จากโรงงาน จึงทำให้รถบางรุ่นที่ไม่ได้รับการติดตั้งมาให้จากโรงงาน แต่ดันมีพละกำลังที่สูงเกินตัว โดยเฉพาะกับรถที่มีฐานล้อสั้น ทำให้กลายเป็นจุดบอดหรือดาบสองคมเลยก็ว่าได้
แต่ก็ใช่ว่ารถที่ไม่มีการติดตั้งกันสะบัดจากโรงงาน จะไม่สามารถนำมาติดตั้งเองได้ เพราะทางค่ายของแต่งชื่อดังมากมายก็ได้สร้างและผลิตกันสะบัดประสิทธิภาพสูงมาเพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องการตัวช่วยในการคอนโทรลรถให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยอาการหลักๆ ของรถที่มีพละกำลังสูงหรือมีอาการหน้าไวตลอดเวลาและไม่ได้รับการติดตั้งกันสะบัด คือ คอรถจะมีอาการโยกส่ายไปมาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนใช้ความเร็วสูงหรือตอนกระแทกคันเร่งหนักๆ และตอนโดนแรงลมปะทะ ไปจนการเลี้ยวโค้ง ตามด้วยอาการส่ายจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรถเริ่มไต่ระดับความเร็วขึ้น พูดง่ายๆ คือ ยิ่งวิ่งเร็วเท่าไหร่ รถยิ่งส่ายมากขึ้นเท่านั้น
และหน้าที่ของกันสะบัดนั้น ในจุดนี้เราจะพูดถึงในส่วนของ กันสะบัดแบบปรับมือ กันก่อนนะครับ โดยกันสะบัดแบบปรับมือ เราสามารถปรับระดับความหนืดของกันสะบัดได้ตามสถานการณ์การใช้งานของเราได้ตามใจชอบเลยครับ โดยการทำงานภายในกันสะบัดนั้น จะมีชุดวาล์วน้ำมันอยู่ด้านในทำหน้าที่ควบคุมความหนืดของแกนกลางด้วยแรงดันน้ำมันตามที่เราปรับนั่นเองครับ ซึ่งในเรื่องของประโยชน์เมื่อเราปรับหนืดแล้ว จะมีผลเป็นอย่างมากในความเร็วสูงและในสถานการณ์ที่เราไม่ต้องหักองศาแฮนด์มากมาย อย่างเช่น การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงหรือขี่ทางตรงๆ แฮนด์รถจะนิ่งเอามากจนทำให้ผู้ขี่ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ แต่กันสะบัดแบบปรับมือ บางครั้งอาจจะเกิดผลเสียสำหรับผู้ที่ใช้งานยังไม่คล่องกับกันสะบัดบนท้องถนนปกติ คือ เมื่อขี่ในความเร็วต่ำและต้องเลี้ยวเป็นวงแคบ แต่ดันลืมปรับระดับกันสะบัดกลับคืน อาจทำให้ผู้ขี่หักเลี้ยวได้ยาก เพราะคอรถจะเกิดแรงหน่วงสูงมาก จนหักเลี้ยวแทบไม่ไปจนอาจทำให้เกิดอันตรายได้ครับ
ในส่วนของกันสะบัดไฟฟ้าหรือ Electronic Steering Damper โดยเริ่มมีใช้กันครั้งแรกใน Honda CBR1000RR 2004 โดยใช้ชื่อว่า HESD (Honda Electronic Steering Damper) ที่ทำงานร่วมกันกับ ECU โดยการทำงานหลักๆ แบบเข้าใจง่ายๆ นั้น กันสะบัดไฟฟ้าจะแปรผันน้ำมันในตัวกันสะบัดให้เกิดความหนืดตามความเร็วของตัวรถที่จะประมวลผลผ่าน ECU โดยที่เราไม่ต้องไปปรับระดับใดๆ เลย จนทุกวันนี้ทางค่ายผู้ผลิตรายใหญ่ก็ได้มีการติดตั้งกันสะบัดไฟฟ้าให้กับรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูงเป็นอุปกรณ์มาตรฐานเป็นที่เรียบร้อย โดยอาศัยหลักการในแบบฉบับเดียวกัน แต่เพิ่มเติมประสิทธิภาพการทำงานที่แม่นยำและครอบคลุมมากขึ้นตามยุคสมัย แต่ข้อเสียของกันสะบัดไฟฟ้าก็พอจะมีบ้างสำหรับไบค์เกอร์มือเก๋าที่บางครั้งการทำงานของกันสะบัดด้วยระบบไฟฟ้า Electronic อาจจะไม่ตอบโจทย์ความหนืดหรือตอบสนองได้ไม่เพียงพอสำหรับการขี่ระดับพระกาฬ จึงต้องรีบเปลี่ยนไปใช้แบบปรับมือที่สามารถปรับได้ตามใจชอบครับ
และนี่คือหน้าที่หลักๆ และการทำงานในแบบฉบับเข้าใจง่ายของอุปกรณ์พิเศษอย่าง กันสะบัด นั่นเองครับ สำหรับท่านใดที่พึ่งถอยรถบิ๊กไบค์สุดหล่อ ไม่ว่าจะประเภทไหน แล้วรู้สึกว่ารถเริ่มออกอาการดิ้นสะบัดบ่อยครั้ง สามารถเข้าไปสอบถามขอคำแนะนำจากร้านไบค์ช็อปใกล้บ้านท่านได้เลยนะครับ โดยค่าตัวกันสะบัดเกรดประสิทธิภาพสูงอาจจะมีราคาแตะ 2x,xxx บาท ทั้งรวมขาจับและไม่รวมขาจับแล้วแต่รุ่น ต้องฝากให้ไบค์เกอร์ทุกท่านยอมควักกระเป๋าสักนิด เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขี่ด้วยครับ ในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำเกร็ดความรู้ดีๆ เรื่องใดมาฝากกันอีก สามารถติดตามได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com