เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2562 - 16:59

ยาง Tubeless มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทำไมรถรุ่นใหม่ๆ ถึงติดตั้งให้ตั้งแต่ออกโรงงาน

 

          ในปัจจุบันรถรุ่นใหม่ๆ เริ่มเปิดตัวกันอย่างคึกคักทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ พร้อมการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความคุ้มค่าอย่างที่สุด และยังมีอีกจุดหนึ่งที่รถใหม่ๆ หลายๆ รุ่นเริ่มมีการติดตั้งมาให้จากโรงงาน โดยเฉพาะรถเล็กที่เริ่มมีให้เห็นมาเรื่อยๆ กับ ยาง Tubeless และเริ่มมีคำถามจากผู้ใช้งานหลายๆ คนว่า เจ้ายาง Tubeless คือ ยางประเภทใดกัน และข้อดี ข้อเสีย เป็นอย่างไร ทำไมรถรุ่นใหม่ๆ ถึงได้เริ่มรับการติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เดี๋ยววันนี้ BoxzaRacing ในคอลัมน์ความรู้เรื่องรถจะพาแฟนๆ มาทำความรู้จักกับยางประเภทนี้กันครับ

 

 

          ยาง Tubeless เริ่มมีอิทธิพลกับรถตลาดเมืองไทยและเป็นที่รู้จักในช่วง 7-8 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงของการเปิดตัวรถสปอร์ตฟูลแฟริ่งรุ่น Honda CBR150R และ Honda CBR250R เมื่อปี 2011 ที่ให้ยาง Tubeless มาจากโรงงาน โดยก่อนหน้านั้น จะมีสปอร์ตไบค์ฟูลแฟริ่งที่เริ่มทำตลาดในเมืองไทยอีกหนึ่งรุ่นในพิกัดใกล้เคียงกันอย่าง Kawasaki Ninja 250 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกับผู้ใช้หลักเท่ากับทาง Honda และต่อมารถสปอร์ตไบค์และอีกหลายๆ สไตล์ที่เปิดตัวเริ่มมีการติดตั้งยาง Tubeless มาให้หลายๆ รุ่นจนถึงปัจจุบัน และอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เราจะมาทำความรู้จักกับยาง Tubeless กันครับ  

 

 

          ยาง Tubeless หรือที่บ้านเราเรียกกันว่ายาง จุ๊บเลส ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ยางที่ไม่มียางในนั่นเองครับ โดยยาง Tubeless นั้น จะมีโครงสร้างผ้าใบด้านในและเนื้อยางด้านนอกที่แข็งแรงกว่ายางรถทั่วไปที่มียางใน สังเกตได้เมื่อมีวัตถุแหลมคมทิ่มเข้าไปที่เนื้อยาง ตัวเนื้อยางจะมีการบีบอัดรูที่โดนทิ่มและยากที่วัตถุแหลมคมจะสามารถทิ่มเข้าไปได้ถึงเนื้อยางชั้นในจนทำให้รั่วซึม (ถ้าไม่เหยียบวัตถุชิ้นใหญ่หรือเหยียบแรงจริงๆ) หรือถ้าเกิดการรั่วซึมขึ้นโดยที่วัตถุแหลมคมยังปักอยู่ที่หน้ายาง กว่าลมยางจะหมดก็ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวัน เนื่องจากตัวเนื้อยางจะมีการบีบตัวเข้าหากันอย่างรวดเร็ว

 

 

          ตามมาด้วยอีกหนึ่งคำถามที่ว่า แล้วถ้าไม่มียางใน ตัวยางจะสามารถเก็บลมไว้ได้อย่างไร ? คำตอบคือ ลมยางจะเก็บไว้ด้านในของยางที่กลวงๆ อยู่ตรงกลางของยางนั่นเองครับ โดยการทำหน้าที่ของการเก็บลมยางนั้น ขอบยางจะมีการอัดแน่นเข้ากับขอบล้อเป็นพิเศษ เพื่อที่จะทำหน้าที่เก็บลมยางไว้ให้อยู่หมัดและโครงสร้างของผนังยางชั้นใน จะมีความแข็งแรงไม่เกิดรอยรั่วซึมจนทำให้เกิดช่องโหว่ของอากาศได้ง่ายๆ และด้วยโครงสร้างอันแข็งแรงของยาง Tubeless จะเป็นเรื่องยากที่จะบิดตัวได้เวลาใส่ยางเข้ากับล้อแม็ก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องถอดยางสำหรับการถอดเปลี่ยนครับ 

 

 

          ต่อไปเราจะมาพูดถึงข้อดีและข้อเสียของยาง Tubeless กันครับ เริ่มด้วยข้อดี คือ ความแข็งแรงทนทานของเนื้อยางและโครงสร้างของยางอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะมีวัตถุแหลมคมมาทิ่มแทงจะต้องเจอกับความทนทานของเนื้อยางด้านนอกเป็นด่านแรก และส่วนใหญ่แล้ววัตถุที่แทงเข้าไปจะไม่สามารถดันตัวเองเข้าไปจนถึงด้านในสุดจนทำให้ยางรั่วได้ หรือหนักสุดก็แค่ทำให้ยางซึมเบาๆ ทำให้ในเรื่องของการดูแลรักษายางเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย ค่อนข้างจะไม่วุ่นวายเท่ายางธรรมดาทั่วไปนัก เพราะเมื่อยาง Tubeless โดนแทงด้วยวัตถุแหลมคมจนทำให้เกิดรูรั่ว สามารถปะได้หลายวิธีตั้งแต่วิธีการแทงหนอนจากด้านนอก หรือปะจากด้านในของยางหรือที่บ้านเราเรียกกันว่าสตรีมใน แต่ในทุกวันนี้มีน้ำยาปะยางทีสะดวกยิ่งขึ้นเพียงแค่ฉีดเข้าไปที่รูรั่วก็สามารถอุดรูรั่วได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมายครับ 

 

 

          และข้อเสียของยาง Tubeless นั้น คงจะไม่พ้นในเรื่องของราคายางที่จะแพงกว่ายางทั่วไปในระดับนึงเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยหลายๆ อย่างที่มีประสิทธิภาพมากกว่า จึงทำให้ในเรื่องของราคาค่าตัวของยาง Tubeless แต่ละเส้นนั้นสูงกว่ายางทั่วไปครับ และต่อมาในเรื่องของจุดบอดเมื่อยางเกิดแผลรั่วแบบฉกรรจ์ การปะแผลนั้นจะต้องถอดยางออกจากล้อแม็กเพื่อไปปะด้านในหรือที่เรียกว่าสตรีมด้วยความร้อนเท่านั้น แต่ในจุดๆ นี้ ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนไม่น้อย เพราะถ้าสตรีมด้านในแล้วช่างซ่อมเกิดไม่ทำความสะอาดหรือเช็คเศษตกค้างภายในยางให้ไม่สะอาดแล้ว เศษสิ่งสกปรกเหล่านี้จะมีผลเสียทำให้ด้านในของยางเกิดความเสียหายเมื่อใช้งานในระยะยาวได้ครับ

 

 

          และนี่คือเรื่องราวของยาง Tubeless ยางประสิทธิภาพสูงที่รถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ๆ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มักติดตั้งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับการใช้งาน และอีกอย่างที่อยากแนะนำกับผู้ใช้งานรถทั่วไปคือ ต่อให้ยางมีประสิทธิภาพสูงขนาดไหน เราต้องมั่นดูแลและเช็คลมยางอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันนะครับ สำหรับวันนี้ BoxzaRacing กับคอลัมน์ความรู้เรื่องรถ ต้องขอลากันไปก่อนและสามารถติดตามเรื่องราวยานยนตร์ ความรู้เรื่องรถต่างๆ ได้ที่ www.BoxzaRacing.com สวัสดีครับ 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook