เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 3 กุมภาพันธ์ 2560 - 10:52

DIY อัพเกรดชุดเบรก Brembo สู่ที่สุดแห่งพละกำลังในการสยบความเร้าใจ

ระบบเบรก...สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับคนรักความเร็ว

 

          ความคัน คือ สิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เลยสำหรับสายซิ่งอย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งเชื่อได้เลยว่าผู้ที่ติดตาม BoxzaRacing แทบจะทุกท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นสายแต่ง สายซิ่งกันทั้งนั้น โดยแต่ละคน ก็ย่อมมีแนวทางการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไปตามรสนิยม บ้างก็แต่งสวย บ้างก็แต่งแรง บ้างก็อัพเกรดระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างโดดเด่น สะท้อนภาพลักษณ์ และสื่อถึงความ “มีของ” ได้อย่างเต็มตัว ซึ่งในวันนี้ BoxzaRacing ขอยกตัวอย่างการอัพเกรดชุดเบรก Brembo ให้กับสองล้อคู่ใจ ในรูปแบบของการ DIY ขั้นตอนการทำอย่างละเอียด พร้อมทั้งบอกเล่าฟีลลิ่ง หลังจากที่ “โดนของ” กันไปเป็นที่เรียบร้อย ไปดูกันครับว่า กับเม็ดเงินที่เสียไปนั้น มันคุ้มค่าขนาดไหน (สามารถติดตามได้ใน เบรก Brembo เปลี่ยนแล้วดีขึ้นขนาดไหน คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ หรือแค่สบายใจเมื่อได้เสียตังค์)

 

เมื่อของครบ...ก็ได้เวลาลงมือ DIY

 

         ขั้นตอนแรก...สำหรับการอัพเกรดชุดเบรกสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่บิ๊กไบค์ เริ่มด้วยการถ่าย หรือดูดน้ำมันเบรคที่อยู่ในระบบออกจนหมด ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ มิให้หยดน้ำมันเบรกสัมผัสกับตัวถังหรือชิ้นส่วนอื่นๆ เนื่องจากตัวน้ำมันเบรก เป็นตัวการที่จะสร้างความเสียอาจให้กับตัวรถ โดยอาจใช้น้ำสะอาดเป็นตัวช่วยในการชำระล้าง

 

พรมน้ำช่วย เจือจางความรุนแรงของน้ำมันเบรก ป้องกันสีรถถูกทำร้าย

 

          ขั้นตอนที่ 2...หลังจากที่จัดการกับน้ำมันเบรกในระบบจนหมดสิ้นแล้ว ก็ค่อยๆ ถอดชิ้นส่วนที่จะเปลี่ยนทีละชิ้น ไล่มาตั้งแต่ปั๊มบน สายเบรก แล้วจึงไล่ไปที่คาลิเปอร์ เหมือนเดิมครับ...สิ่งที่ควรระวัง คือ การหยดของน้ำมันเบรก เนื่องจากอาจจะยังมีน้ำมันเบรกบางส่วน หลงเหลืออยู่ในระบบ

 

สเปเซอร์รองขาคาลิเปอร์ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของจานเบรก

 

จัดการนำของที่จะอัพเกรด ใส่เข้าไปแทนที่

 

คาลิเปอร์ Brembo M4 100 มม. รูทางเข้าน้ำมันอยู่ข้างรูไล่ลม

 

คาลิเปอร์ Brembo M4 108 มม. รูทางเข้าน้ำมันอยู่ข้างน็อตยึดขา (บริเวณหัวลูกศร)

 

          ขั้นตอนที่ 3...นำอุปกรณ์ที่ต้องการอัพเกรด จัดการใส่เข้าไป เริ่มที่การใส่ปั๊มบน ตามด้วยคาลิเปอร์ ซึ่งมีจุดสังเกตในการอัพเกรดอยู่เล็กน้อย เนื่องจากคาลิเปอร์แต่ละรุ่นที่เลือกมาใช้ อาจมีความเฉพาะเจาะจงกับรถในบางรุ่น ซึ่งโดยทั่วไป คาลิเปอร์ Brembo M4 ที่ยึดกับโช้คแบบ Radial Mounth จะมีขนาดให้เลือกระหว่าง 100 มม. (ส่วนใหญ่จะใช้กับรถยุโรป BMW, Ducati หรือ Triumph) ส่วนรถญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะใช้ขนาด 108 มม. (ยกเว้น Kawasaki ZX-10R 2016, Z1000R ที่มาพร้อมคาลิเปอร์ Brembo M50 ที่จะมีให้ใช้ขนาด 100 มม. เท่านั้น) สำหรับวิธีการสังเกตว่าเป็น 100 หรือ 108 มม. นอกจากจะวัดความห่างของหูยึดคาลิเปอร์แล้ว ยังดูได้จากรูทางเข้าของน้ำมันเบรก ถ้าเป็น Brembo M4 100 มม. ทางเข้ารูน้ำมันจะอยู่ด้านบน ชิดกับรูไล่น้ำมันเบรก ส่วนขนาด 108 มม. รูทางเข้าน้ำมัน จะอยู่ใกล้กับรูยึดน็อตตัวบน อีกหนึ่งจุดที่ควรระวัง คือ เรื่องของสเปเซอร์รองขาคาลิเปอร์ ต้องเลือกขนาดให้พอดีกับจานเบรก (ซึ่งโดยปกติ Brembo M4 จะออกแบบมาให้รูขายึดคาลิเปอร์สั้นกว่ารูขาคาลิเปอร์เดิม เพื่อให้รองรับกับการใช้จานเบรกได้หลายขนาด สามารถวัดความต่างของความยาวของรูขายึด เพื่อเลือกขนาดสเปเซอร์ที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ราวๆ 5-15 มม. เมื่อใส่ไปแล้ว ผ้าเบรกจะได้จับเต็มหน้าจานพอดี)

 

เดินสายเบรก โดยจัดเลย์เอาท์ให้เรียบร้อย

 

ยึดสายน้ำมันเบรคเข้ากับปั๊ม โดยกันการรั่วซึมด้วยปะเก็นทองแดง

 

           ขั้นตอนที่ 4...เมื่อจัดการกับตำแหน่งของปั๊มบนและคาลิเปอร์ได้แล้ว ก็จัดการร้อยสายเบรกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งก็มีเลย์เอาท์ในการจัดวางหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบร้อยข้ามบังโคลน (สแตนดาร์ดของรถส่วนใหญ่) แบบใช้สามทาง หรือร้อยสายคู่ลงมาตั้งแต่ปั๊มบน ข้อควรระวังในการเดินสายก็คือ ควรเก็บให้เรียบร้อย ไม่ให้มีการเสียดสีกับชิ้นส่วนอื่นๆ อันเป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอยไม่พึงประสงค์ตามมา ส่วนการยึดเข้ากับปั๊มบนและคาลิเปอร์ ต้องใส่ปะเก็นทองแดงที่ยังไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน เพื่อป้องกันการรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นได้

 

จัดการไล่น้ำมันเบรกอย่างใจเย็น ย้ำว่า...ถ้าให้ดี ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ไล่จนตึงมือ

 

 

          ขั้นตอนที่ 5...หลังจากที่เดินสายเรียบร้อย ก็ได้เวลาที่ต้องเติมและไล่น้ำมันเบรกให้เต็มระบบ โดยขั้นตอนนี้ต้องย้ำเบรกเป็นระยะ สลับการเปิดรูน็อตเพื่อไล่ลม ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ประมาณ 3-4 ครั้ง จนรูสึกว่าฟีลลิ่งเบรกเริ่มตึงมือและไม่มีอากาศหลงเหลืออยู่ในระบบ พร้อมกับเติมน้ำมันเบรกเพิ่มเข้าไปให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ

 

หลังจากที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย อย่าลืมตรวจเช็คการรั่วซึมอย่างละเอียดอีกครั้ง

 

           ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นขั้นตอนในการ DIY อัพเกรดชุดเบรก ที่คุณเองก็สามารถทำได้ (หากมีความเชี่ยวชาญเพียงพอ) ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากระบบเบรกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ควรได้รับการดูแลหรือคำแนะนำจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดที่จะได้รับ ซึ่งหวังว่าการ DIY ในครั้งนี้ คงจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ชาว BoxzaRacing ไม่มากก็น้อยครับ

 

ขอขอบคุณ : ร้าน Smart BigBike by NaKaKoh รังสิต คลอง 4 โทร.081-486-0208 สำหรับข้อมูลการ DIY ครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook