รถมอเตอร์ไซค์ หรือ บิ๊กไบค์ ที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องมาคู่กันเป็นเงาตามตัว คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสึกหรอ ที่ยิ่งใช้...อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวรถ ย่อมมีประสิทธิภาพที่ลดน้อยถอยลงไป ซึ่งส่งผลให้ความปลอดภัยในการขับขี่ ลดน้อยถอยลงไปด้วย ดังนั้นผู้ขับขี่จึงควรให้ความสนใจในการตรวจสอบ ดูแล หรืออัพเกรดอุปกรณ์ที่มีการสึกหรอเหล่านี้ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ผ้าเบรก นับเป็นหัวใจสำคัญสุดๆ ของระบบเบรกเลยทีเดียว
ผ้าเบรก เป็นชิ้นส่วนสำคัญอีกหนึ่งชิ้น ที่ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยในยามขับขี่ การใช้เบรกหนักๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผ้าเบรกมีการสึกหรออย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ขับขี่ต้องหมั่นสังเกต ตรวจเช็คระดับของผ้าเบรกให้อยู่ในขั้นที่พร้อมใช้งาน ซึ่งหากผ้าเบรกมีการสึกหรอจนบางเกินไป นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการเบรก ทำได้ไม่เต็มที่แล้ว หากผ้าเบรกหมด แล้วยังฝืนที่จะใช้งานต่อ อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนในระบบเบรก เช่น จานเบรก ลูกสูบเบรก อีกด้วย
Brembo ผีเสื้อ ปักข้าง คาลิเปอร์ยอดฮิตสำหรับสายซิ่ง
วันนี้ BoxzaRacing จะพาทุกท่านมา DIY การเปลี่ยนผ้าเบรกของคาลิเปอร์อีกหนึงรุ่น ที่ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูงในท้องตลาด นั่นก็คือ คาลิเปอร์ Brembo P2 หรือที่สายซิ่งบ้านเรานิยมเรียกกันว่า Brembo ผีเสื้อ ปักข้าง ซึ่งขั้นตอนในการเปลี่ยนผ้าเบรก Brembo ผีเสื้อ ปักข้าง นั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เท่านั้น !
ผ้าเบรกหมด ไม่ใช่แค่เบรกไม่อยู่ แต่อาจสร้างความเสียหายให้กับชิ้นส่วนในระบบเบรกด้วย
เริ่มด้วยการถอดคาลิเปอร์ออกมาจากขายึดด้วยหกเหลี่ยม ควรค่อยๆ ขันน็อตออกอย่างเบามือ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับหัวน็อต ซึ่งหลังจากถอดออกมาแล้ว สภาพของผ้าเบรกเดิมก็เป็นไปอย่างที่เห็น เผลอปล่อยไว้อีกนิดเดียว บอกได้เลยว่า...งานมาแน่ๆ
ค่อยๆ ดึงสลักออกมา และระวังลวดสปริงกระเด็นหาย
ใช้คีมปากแหลมดึง C-Clip ที่ล็อกสลักยึดผ้าเบรกออกมา หลังจากนั้นค่อยๆ ดึงตัวสลักออก ซึ่งแน่นอนว่าใช้มือดึงอาจจะไม่ออก เพราะมีลวดสปริงกดไว้อยู่ ตรงนี้ให้ใช้วัตถุแข็งช่วยดัน หรือใช้คีมดึงหัวอีกฝั่ง จะช่วยให้ดึงสลักล็อกผ้าเบรกง่ายขึ้น ข้อควรระวังอย่างรุนแรง ในขณะที่เราดึงสลักออก ลวดสปริงที่ดันสลักไว้ จะมีแรงดันที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งหากสลักหลุด ลวดสปริงอาจไร้ที่ยึดเหนี่ยวจนลอยปลิวหายไป จึงควรเอามือช่วยกดหรือรองไว้ เพื่อป้องกันการสูญหายที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน
เปรียบเทียบการสึกหรอของผ้าเบรก ต้องบอกว่า ของเดิม...ใช้งานมาคุ้มจริงๆ
สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ก่อนที่จะประกอบกลับเข้าไปก็คือ การทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกสูบ หรือแม้แต่อุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ในระบบเบรกทำได้อย่างเต็มที่ จากนั้นถ่างลูกสูบในปั๊มกลับเข้าไปให้สุด (เปิดฝากระปุกน้ำมันเบรก เพื่อลดแรงดันกลับในระบบ) เนื่องจากผ้าเบรกใหม่มีความหนาค่อนข้างมาก ซึ่งในกรณีที่ความหนาของผ้าเบรกเท่าเดิม น้ำมันเบรกในระบบจะไม่มีการไหลล้นออกมา แต่หากในบางกรณี เช่น ซื้อคาลิเปอร์มือสอง ที่ผ้าเบรกค่อนข้างบางมาตั้งแต่แรก ไล่น้ำมันครั้งแรก อาจต้องเติมน้ำมันเข้าไปแทนที่ระยะเนื้อผ้าเบรกที่หายไปเยอะกว่าปกติ การเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ที่หนาขึ้น อาจทำให้น้ำมันในระบบล้นกลับมาที่กระปุก ซึ่งหากน้ำมันเบรกมากเกิน ควรรระบายออกไปบ้าง โดยระวังสีรถที่อาจได้รับการกระทบกระเทิือน โดยหากดันลูกสูบกลับเข้าไปไม่สุด อาจเกิดการการเบรกติดได้
ดันลูกสูบกลับเข้าไปให้สุด ชดเชยความหนาของผ้าเบรกที่ใส่เข้าไป
เมื่อทำความสะอาดจนได้ที่แล้ว ก็จัดการเอาผ้าเบรกที่จะเปลี่ยนใส่เข้าไปแทนที่ของเดิม โดยหันฝั่งก้อนผ้าเบรกเข้าหาด้านจานเบรก จากนั้นค่อยๆ ใส่สลักกลับเข้าไปที่เดิม โดยร้อยผ่านลวดสปริงเช่นเดียวกับตอนที่ถอดออกมา ซึ่งเมื่อดันสลักเข้าจนสุดแล้ว ให้ใส่ C-Clip เพื่อล็อกสลักอีกชั้น
แค่เห็นหน้าตาใหม่ๆ ความมั่นใจก็มาเต็ม
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ให้จับคาลิเปอร์ใส่เข้าไปที่ขายึดเช่นเดิม เพื่อความไม่ประมาท อาจแต้มน้ำยากันคลายที่เกลียวน็อตเล็กน้อย (แต่ไม่แนะนำให้แต้มเยอะนะครับ ตอนถอดจะลำบากชีวิตมาก) หลังจากที่ประกอบกลับเข้าไปเรียบร้อย ลองเช็คมาร์คที่เคยทำไว้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด จุดมาร์คจะต้องอยู่ที่เดิม อีกประเด็นสำคัญก่อนใช้งานก็คือ หลังจากที่เปลี่ยนผ้าเบรกมาใหม่ๆ ก่อนที่จะใช้งานอย่างหนักหน่วง ให้รันอินตัวผ้าเบรกใหม่สักเล้กน้อย เพื่อให้หน้าสัมผัสของผ้าเบรกที่เปลี่ยนเข้าไป จับกับจานเบรกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของระบบเบรกมีประสิทธิภาพสูงสุด
มาร์คตรง...เป็นอันใช้ได้
เสร็จสิ้นขั้นตอนในการเปลี่ยนผ้าเบรกกันไปเรียบร้อย ทีนี้ก็เข้าสู่ขั้นตอนในการเก็บงาน โดยเฉพาะเรื่องของระดับน้ำมันเบรกที่ได้พูดไปในข้างต้น ในกรณีที่ซื้อคาลิเปอร์มือสอง แล้วผ้าเบรกติดมาค่อนข้างบาง ตอนที่ติดตั้งเราอาจต้องใส่น้ำมันเบรกเผื่อเข้าไปเพื่อชดเชยระยะผ้าเบรกที่หายไป แต่ในขณะที่เราเปลี่ยนผ้าเบรกที่มีความหนามากขึ้น แต่น้ำมันในระยบบยังคงเท่าเดิม ตัวน้ำมันที่ถูกแทนที่โดยผ้าเบรก อาจล้นออกมาสร้างความเสียหายให้กับสีรถได้ ดังนั้นจึงควรจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ซึ่งน้ำมันในระบบเบรก เป็นสิ่งที่ไม่ได้หายไปไหน หากไม่มีการรั่วซึม ดังนั้นหากเห็นว่าน้ำมันเบรกในระบบพร่องไปเล็กน้อย ไม่ถึงกับหายมากจนผิดสังเกต ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ควรเติมน้ำมันเบรกเพิ่มเข้าไปโดยเด็ดขาด หากปริมาณน้ำมันเบรกยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
น้ำมันเบรก ไม่ใช่สิ่งที่สูญหาย หากไม่มีการรั่วซึม ดังนั้นไม่ควรเติมพร่ำเพรื่อ หากไม่ได้ยุบหายแบบผิดสังเกต ซึ่งถ้าหายขนาดนั้น ควรเช็คอาการรั่วซึมอย่างเร่งด่วน
การ DIY นอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจ ที่ให้คุณได้ทำความเข้าใจ ใกล้ชิดกับสองล้อคันเก่งของคุณให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย สละเวลาเพียงนิด กับความภูมิใจที่ได้รับ เวลาได้มีส่วนร่วมกันรถที่คุณรัก มันถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าเลยทีเดียวล่ะครับ