เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 21 สิงหาคม 2562 - 12:31

5 พฤติกรรม การขับขี่บิ๊กไบค์ที่ไบค์เกอร์หลายคนเข้าใจผิด และมีข้อเสียอย่างไร มาทำความเข้าใจใหม่กัน

 

          เมื่อพูดถึงรถบิ๊กไบค์สมัยนี้ ถือว่าได้กระแสความนิยมที่ฟีเวอร์ที่สุดแห่งยุคเลยก็ว่าได้ แต่ถ้ามองในมุมกลับอีกด้าน ที่จะบอกได้ว่าเป็นข้อเสียก็ดี หรือข้อบกพร่องที่มาพร้อมกระแสอันลุกฮือก็ดี ซึ่งครั้งนี้ BoxzaRacing ในช่วงความรู้เรื่องรถ เราจะมาพูดถึง 5 พฤติกรรมหลักในการขี่บิ๊กไบค์ ที่ไบค์เกอร์หลายๆ คนมักเข้าใจผิด และพฤติกรรมที่ผิดๆ เหล่านี้ มันมีผลเสียอย่างไรกับการใช้รถคู่ใจของคุณบ้าง เดี๋ยววันนี้เราจะมาทำความเข้าใจในแต่ละพฤติกรรมกันครับ

 

 

          อย่างที่เราได้กล่าวมาข้างต้น เกี่ยวกับเรื่องกระแสของรถบิ๊กไบค์ในยุคนี้ ที่ลุกฮือจนไม่ว่าจะมองไปที่ไหน หรืออยู่ถนนเส้นใดก็มักจะได้ยินเสียงของรถบิ๊กไบค์ไปเสียหมด ด้วยเหตุนี้ก็เพราะกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีของผู้ที่สนใจรถบิ๊กไบค์ จนมีคำที่ว่า "ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้" ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยเก๋า ในแต่ละค่ายผู้ผลิตก็ต่างสร้างสรรค์รถมอเตอร์ไซค์ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้ที่สนใจแทบครบทุกรูปแบบ จนบางท่านตัดสินใจที่จะรีบกำเงินไปวางเพื่อเป็นเจ้าของ ก่อนที่จะได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเทคนิคตัวรถ ไปจนถึงข้อมูลเทคนิคการขับขี่และใช้งานอย่างถูกต้อง จึงทำให้ผู้ใช้รถบางท่าน ที่อาจจะยังไม่แน่นในเรื่องประสบการณ์ จนเกิดพฤติกรรมการใช้งานรถที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าใจผิดไปเอง...ในคอนเทนต์วันนี้ BoxzaRacing จึงได้ยก 5 พฤติกรรมหลักๆ ที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในการใช้รถของไบค์เกอร์มือใหม่บางท่านในปัจจุบัน เพื่อให้ทุกท่านได้ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้กังวลครับ

 

1.ชอบกำคลัทช์ทุกครั้ง เมื่อผ่อนคันเร่ง เบรก หรือเข้าโค้ง

 

          มาเริ่มกันที่พฤติกรรมแรกกันเลยครับ กับคนที่ "ชอบกำคลัทช์ทุกครั้ง เมื่อผ่อนคันเร่ง เบรก เข้าโค้ง" เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมแบบผิดๆ สุดฮิตของหลายๆ คนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กที่มีคลัทช์หรือรถบิ๊กไบค์ ลองสังเกตดูดีๆ นะครับ ว่าการใช้รถคลัทช์ของไบค์เกอร์บางกลุ่ม บางท่านที่เริ่มหัดขี่ใหม่ๆ จะมีพฤติกรรมที่สังเกตได้อย่างง่ายๆ เลยคือ การกำคลัทช์ทุกสถานการณ์ตั้งแต่ยกคันเร่ง เบรก ไปจนถึงเข้าโค้ง ต้องขอบอกเลยนะครับว่า พฤติกรรมแบบนี้ ที่คุณกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ "ผิด" เพราะอะไรนั้น ตามมาชมกันครับ

 

 

          ที่ว่าผิด คือ การผ่อนคันเร่งแล้วกำคลัทช์แช่และปล่อยรถให้ไหลไป ข้อเสียคือ รถจะไม่มีแรงฉุดของเครื่องยนต์เลย หรือที่เรารู้สึกว่าเมื่อยกคันเร่งแล้วกำคลัทช์ รถมันจะไหลไปเรื่อยๆ แล้วลองคิดดูเล่นๆนะครับว่า เมื่อรถไหลไปเรื่อยๆ โดยที่ความเร็วลดลงอย่างช้าๆ ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นข้างหน้า แล้วต้องเบรกอย่างกระทันหัน หรือต้องใช้เบรกเพื่อเข้าโค้ง ขอบอกเลยครับว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ที่จะสามารถหยุดรถได้อย่างแม่นยำ ต่อให้รถคุณติดระบบเบรกสุดเทพก็ตาม เอาไม่อยู่แน่นอนครับ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดอาการล้อล็อคเสียก่อนที่รถจะหยุด เลยทำให้รถสไลด์และเกิดอุบัติเหตุได้ครับ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า "แล้วการปล่อยคลัทช์ให้เกิดแรงฉุดจากเครื่องยนต์ที่ว่า มันมีประโยชน์อย่างไรกับการผ่อนคันเร่ง เบรก เข้าโค้ง ?" คำตอบคือ เมื่อรถมีแรงฉุดจากเครื่องยนต์ จะเสมือนว่าเราได้ใช้กำลังของเครื่องยนต์มาเป็นตัวช่วยในการเบรก แถมยังช่วยผ่อนภาระไปยังเบรกหน้าและเบรกหลัง และสามารถชะลอรถเพื่อเข้าโค้ง ไปจนถึงการเบรกอย่างสนิทได้อย่างแม่นยำ โดยที่จะสามารถลดอาการล้อล็อคหรือเบรกจนล้อลากที่เราได้ยินกันครับ จึงกลายมาเป็นคำศัพท์เทคนิคประจำวงการไบค์เกอร์ก็คือ "Engine Brake" นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นการใช้คลัทช์ แนะนำให้ใช้เพียงตอนออกตัว เปลี่ยนเกียร์ หรือจอดรถเท่านั้นครับ

 

2.ใช้เกียร์สูงในความเร็วต่ำ

 

          พฤติกรรมต่อไป คือ การใช้เกียร์สูงในความเร็วต่ำ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมการใช้รถบิ๊กไบค์ที่ผิดเช่นกัน แต่อาจไม่รุนแรงมากนัก และที่ว่าผิดก็คือ รถบิ๊กไบค์เป็นรถที่มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะและมีพละกำลังเครื่องยนต์ที่สูง เมื่อคุณใช้เกียร์สูงในความเร็วต่ำ จะเกิดความไม่สัมพันธ์ระหว่างความเร็วและอัตราทดเกียร์ รวมไปถึงการแบกรับน้ำหนักของเครื่องยนต์ที่มีต่อตัวรถและตัวผู้ขี่ จึงทำให้รถมีอาการกระตุกได้โดยง่าย จึงกลายเป็นสาเหตุที่ว่าไม่ควรใช้เกียร์สูงในความเร็วต่ำ

 

 

          และข้อเสียของพฤติกรรมนี้ คือ เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมา เช่นการที่ต้องเบรกกระทันหันในความเร็วต่ำ ในกรณีผู้ที่ยังไม่ชำนาญหรือยังไม่คุ้นเคยกับรถรุ่นนั้นๆ จะเกิดอาการตกใจและรีบใช้เบรกทันที ไม่ว่าจะเบรกหน้าหรือเบรกหลังก็ตาม ในวินาทีนั้น รอบเครื่องยนต์จะต่ำลงอย่างฉับพลันและเกิดอาการกระตุกอย่างรุนแรง ถ้าเกิดว่าโชคดีรถอาจดับไปและสามารถหยุดรถได้ หรือถ้าให้โชคดีกว่านั้น คุณอาจมีสติพอที่จะกำคลัทช์เพื่อให้รถหยุดกระตุกและแตะเบรกได้อย่างสนิทในความเร็วต่ำ แต่ถ้าให้พูดถึงความโชคร้ายล่ะ ถ้าคุณเผลอควบรถบิ๊กไบค์ที่มีพละกำลังสูงๆ ทอร์คจัดๆ แล้วดันเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น แล้วรถกระตุก แต่มันไม่ยอมดับเสียที และด้วยความตกใจคุณกลับหลงไปแตะคันเร่งมันอีก ลองคิดดูครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น บอกได้คำเดียวว่า "กระชากยับเยิน" ทันทีครับ เครื่องยนต์จะเกิดอาการกระตุกรุนแรงขึ้นอีกด้วยรอบที่ขึ้นๆ ลงๆ จนทำให้คุณตกใจยิ่งกว่าเดิม และยากที่จะรวบรวมสติสตางค์เพื่อหาวิธีหยุดรถ จนทำให้เกิดเหตุไม่คาดคิดได้ครับ โดยพฤติกรรมในเคสนี้ ที่ถูกต้องคือ คุณควรใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับรอบความเร็วเพื่อให้เกิด Engine Brake เล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับลากรอบสูงเพื่อไม่ให้รถมีอาการเครื่องยนต์กระตุก ก็ถือว่าโอเคสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันครับ แต่ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องเดินเบาเครื่องยนต์ในเขตชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางเสียงจริงๆ ก็พยายามหาจังหวะเกียร์กับความเร็วไม่ให้กระตุกจนเกินไปครับ

 

3.การใช้สายตาและมุมมองในการขี่

 

          มาต่อกันที่พฤติกรรมต่อไปที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ว่ามันสำคัญขนาดไหนกับ การใช้สายตาและมุมมองในการขี่ ในจุดนี้ขอบอกเลยครับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะการมองนั้น จะเป็นเหมือนการประมวลผลก่อนที่เราจะตัดสินใจว่า เราควรรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไร โดยความจริงแล้ว เราอาจคิดว่าการคอนโทรลรถเกิดจากมือกับแขนใช่ไหมครับ แต่อันที่จริงแล้วมือกับแขนจะปฏิบัติตามสายตามองอีกทีครับ โดยไม่ว่าสายตาจะกวาดไปทางไหน มือและแขนจะทำหน้าที่เคลื่อนไหวให้รถเลี้ยวตามโดยที่เราไม่รู้ตัว ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำสำหรับการใช้สายตาและมุมมองในการขี่คือ การมองให้สุดที่ปลายถนนหรือปลายโค้งไปเลยครับ เพื่อที่เราจะได้ประมวลผลในมุมกว้างและพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้าของเรานั่นเอง 

 

4.ตำแหน่งท่านั่งในการขี่ ไม่เห็นต้องสำคัญอะไรมากมาย

 

          มาถึงพฤติกรรมที่ไบค์เกอร์มือใหม่หลายๆ คน แทบจะมองข้ามกันเป็นส่วนมากเลยทีเดียวกับการจัดตำแหน่งท่านั่งในการขี่หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Riding Position โดยการจัดตำแหน่งท่านั่งบนเบาะรถคู่ใจนั้น หลายๆ คนอาจตั้งคำถามขึ้นมาว่า "ทำไมการขี่รถบิ๊กไบค์มันต้องยุ่งยากขนาดนั้นเลยหรือ ?" อย่าลืมนะครับว่าอีกหนึ่งหัวใจหลักของการขี่รถบิ๊กไบค์ คือ การควบคุมคอนโทรลให้ได้ดั่งใจสั่ง การจัดตำแหน่งท่านั่งของผู้ขี่นั้นจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญก่อนที่เราจะบิดกุญแจสตาร์ทรถเสียอีก เพราะถ้าเราไม่ได้มีการจัดตำแหน่งท่านั่งให้ถูกต้องแล้วล่ะก็ การควบคุมรถคู่ใจของคุณจะมีการติดขัดของส่วนต่างๆ อย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็น วงสวิงของแขน ตำแหน่งลำตัวที่จะติดขัดในการขยับตัวเมื่อต้องพลิกรถเข้าโค้ง ไปจนถึงตำแหน่งการวางเท้าที่เบรกและเกียร์ก็สามารถติดขัดได้เช่นกัน 

 

 

          และด้วยเหตุนี้ที่ทำไมเราถึงได้ยกให้การจัดตำแหน่งท่านั่งในการขี่หรือ Riding Position เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ไบค์เกอร์ควรที่จะหาข้อมูลและฝึกฝนแล้วนำมาใช้กับตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลดีในการขี่รถคู่ใจอย่างสนุกสนานและควบคุมรถได้ดั่งใจสั่งครับ สามารถหาข้อมูลการจัดตำแหน่งท่าทางการขี่รถหรือ Riding Position ได้ที่คอลัมน์ความรู้เรื่องรถของ BoxzaRacing ได้เลยครับ

 

5.ไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าคอร์สเบสิค

 

          การจัด Riding Course หรือ คอร์สสอนการขับขี่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการบริการหลังการขายที่ดีมากในหลายๆ ค่ายของรถบิ๊กไบค์ในสมัยนี้ เรียกได้ว่าเป็นการส่งมอบความปลอดภัยให้กับลูกค้าหลังจากที่ซื้อรถจากทางศูนย์ตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว แต่ในกลุ่มผู้ใช้รถบางท่านที่กลับมองว่าการเข้าคอร์สการขับขี่เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเสียเท่าไหร่ เพราะอาจทำให้ดูไม่เป็นมือโปร หรืออาจจะมีเหตุผลในหลายๆ อย่างเพื่อกีดกันการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ต้องขอบอกเลยครับว่าถ้าคุณเพิ่งเริ่มจะขี่บิ๊กไบค์ โดยไม่มีทักษะใดๆ เลย "คุณคิดผิด" เพราะในบางค่ายนั้น กิจกรรมเข้าคอร์สสอนการขับขี่แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และมีการจัดวนเวียนตลอดปี เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ ในที่นี้เราอยากให้คุณหาเวลาว่างให้ตรงกับกิจกรรมเข้าคอร์สสอนขับขี่สักคอร์สก็ยังดี ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ เบสิคคอร์ส จนไปถึงระดับ แอดวานซ์ ทางครูฝึกจะทำการสอบถามและฝึกฝนให้พอเหมาะกับทักษะที่คุณมีอยู่ได้อย่างถูกต้องครับ

 

 

          และนี่คือ 5 พฤติกรรมการขับขี่บิ๊กไบค์ ที่ไบค์เกอร์หลายคนเข้าใจผิด พร้อมข้อเสียที่จะเกิดขึ้นถ้าคุณยังไม่ปรับแก้เสียเดี๋ยวนี้ ทางผู้เขียนหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ขับขี่มือใหม่ได้ไม่มากก็น้อย และในครั้งหน้า BoxzaRacing จะนำความรู้เรื่องใดมาฝากแฟนๆ กันอีก สามารถติดตามชมได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน...สวัสดีครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook