เขียนโดย: Piapiano

เมื่อ: 12 มีนาคม 2562 - 14:38

Bigbike สไตล์ Adventure กับ Enduro แตกต่างกันอย่างไร ใช้งานแบบไหนบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลย

 

          อีกหนึ่งคำถามคาใจของไบค์เกอร์หลายๆ คน เกี่ยวกับเรื่องของประเภทรถมอเตอร์ไซค์ที่ค่อนข้างมีข้อถกเถียงกันในหมู่ของกลุ่มผู้ใช้รถประเภทนี้ เรื่องความแตกต่างระหว่างรถมอเตอร์ไซค์ประเภท Adventure กับ Enduro ว่าตกลงแล้วทั้ง 2 ประเภทนี้ มันคือ ประเภทเดียวกันหรือไม่ ในครั้งนี้ BoxzaRacing คอลัมน์ความรู้เรื่องรถ จะพาทุกท่านมาคลี่คลายคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวในวงการสองล้อและสี่ล้อ กับหัวข้อในวันนี้ที่เรากล่าวมาข้างต้น นั่นก็คือ Adventure กับ Enduro ต่างกันอย่างไร เหมาะกับการใช้งานแบบไหน เดี๋ยวเราไปทำความรู้จักกับเจ้ารถมอเตอร์ไซค์ทั้ง 2 ประเภท กันเลยครับ

 

ความหมายและนิยามของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure

Triumph Explorer 1200

 

          รถมอเตอร์ไซค์ Adventure ตามคำศัพท์ที่ตรงตัวก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ที่มีไว้สำหรับผจญภัย แต่จริงๆ แล้ว รถมอเตอร์ไซค์ Adventure คือ ชื่อประเภทแยกย่อยที่เกิดมาจากสายพันธ์ุ Dual Purpose (Adventure + Touring) แต่ได้ถูกปรับเปลี่ยนสมรรถนะระบบและช่วงล่างขึ้นไปอีกสเต็ป เพื่อรองรับการใช้งานที่สมบุกสมบันมากกว่าเดิม และสามารถวิ่งบนเส้นทางที่ไม่ใช่ทางเรียบได้อย่างเต็มที่ แต่ในส่วนของรูปทรงหลักๆ ยังคงเป็น Dual Purpose (Adventure + Touring) อยู่เหมือนเดิม เหตุเพราะเพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้ขับขี่ที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้สองต่อ ทั้งขับขี่ท่องเที่ยวทางไกลชิลล์ๆ หรือตะลุยบนเส้นทางสุดหฤโหด ด้วยรถที่มีความกำยำกล้ามเป็นมัดๆ และมาพร้อมสมรรถนะผนวกกับเทคโนโลยี

 

ความหมายและนิยามของรถมอเตอร์ไซค์ Enduro

Honda CRF250L

 

          รถมอเตอร์ไซค์ Enduro คือ รถมอเตอร์ไซค์ที่บ้านเราเรียกกันจนติดปากว่ารถมอเตอร์ไซค์วิบาก แต่ยังมีศัพท์เฉพาะของรถมอเตอร์ไซค์วิบากที่หลายๆ คนรู้จักอีกหนึ่งชื่อ คือ Motocross โดยเจ้า Enduro กับ Motocross คือ รถมอเตอร์ไซค์วิบากเหมือนกันครับ แต่แตกต่างกันตรง Motocross คือ รถวิบากที่เกิดมาเป็นสเปครถแข่งตั้งแต่ออกโรงงาน ไม่มีอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับการใช้งานบนท้องถนน เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย กระจกมองหลัง และไม่สามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานบนถนนได้ แต่ Enduro คือ รถวิบากตัวลูกที่ถูกถ่ายทอด DNA จากตัวแข่ง Motocross โดยจะถูกตัดทอนสมรรถนะบางส่วนออก แต่มีการติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับการใช้งานบนท้องถนนและจดทะเบียนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานขับขี่บนเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนทางเรียบ ไม่ว่าจะเป็นบุกป่าฝ่าดงมันส์ๆ กับชาวแก๊ง หรือตะลุยทางฝุ่นทางดินเพื่อวิ่งไปไร่ไปนา เจ้ารถมอเตอร์ไซค์ Enduro ก็พร้อมรองรับได้สบายๆ ครับ

 

รูปทรงและสัดส่วน (Adventure)

Honda CRF1000L Africa Twin

 

          จุดสังเกตแรกของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure คือ จะมีรูปทรงและสัดส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่า Enduro ไม่ว่าจะเป็น เฟรม, แฟริ่ง จนไปถึงขนาดของเครื่องยนต์ ด้วยเหตุผลที่ว่ารถมอเตอร์ไซค์ Adventure โดยภูมิเดิมแล้ว คือ รถมอเตอร์ไซค์ทีถูกอัพเกรดสมรรถนะมาจากรถมอเตอร์ไซค์ Dual Purpose หรือรถมอเตอร์ไซค์กึ่งเอนกประสงค์ ที่ถูกสร้างมาให้มีขนาดตัวรถที่สูงใหญ่บึกบึน เพื่อการใช้งานที่เหมาะสำหรับการเดินทางไกลและรองรับการขนสำภาระด้วยกล่องเอนกประสงค์ที่ติดตั้งเพิ่มเข้ามา รถมอเตอร์ไซค์ Adventure ยังคงมีพื้นฐานรูปทรงและสัดส่วนแบบเดียวกันกับ Dual Purpose ทำให้มีน้ำหนักตัวที่มากกว่า Enduro ค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้รถมอเตอร์ไซค์ประเภท Adventure ยังคงมีสัดส่วนที่กำยำบึกบึน แต่ก็พร้อมที่จะรับมือได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางบนถนนทั่วไปที่ขับขี่ชิลล์ๆ สบายๆ บนทางเรียบจนไปถึงการเดินทางบนเส้นทาง Adventure ตะลุยทางฝุ่น ดินโคลน ขึ้นเขาลงห้วย ด้วยความที่รถมอเตอร์ไซค์ Adventure ได้รับการอัพเกรดปรับแต่งสมรรถนะระบบช่วงล่างแล้ว ก็สามารถลุยได้อย่างเต็มพิกัด

 

รูปทรงและสัดส่วน (Enduro)

Kawasaki KLX250

 

          ในส่วนของรถมอเตอร์ไซค์ Enduro นั้น จะมีรูปทรงที่สูง เล็กกระทัดรัดและมีน้ำหนักเบา โดยตำแหน่งเบาะนั่งเป็นระนาบเดียว และจัดตำแหน่งท่านั่งของผู้ขับขี่ให้หลังตรง พร้อมแฮนด์บาร์ขนาดกลางที่ไม่กว้างและไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อรองรับท่ายืนในการขับขี่เมื่อเจอเส้นทางที่เกินจะนั่งขี่ควบคุม เหมาะสำหรับการใช้งานในรูปแบบการขับขี่ท่องเที่ยวบนเส้นทางป่าเขา หรือทางฝุ่นทางดินจนถึงเส้นทางสุดคับแคบที่มีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างทาง จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้รถ Enduro เป็นรถที่ต้องมีขนาดกะทัดรัด ควบคุมง่าย เพราะถ้ามีขนาดที่ใหญ่เกินไป จะทำให้การตะลุยเส้นทางที่สมบุกสมบันและการเข้าพื้นที่คับแคบจะเสียความคล่องตัวได้ครับ

 

ช่วงล่างและการควบคุม (Adventure)

KTM 1290 Super Adventure R

 

          ช่วงล่างของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure จะถูกปรับเซ็ทระบบใหม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนใช้อะไหล่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโช้คอัพหน้า-โช้คอัพหลัง และวงล้อจากปกติที่ใช้เป็นขอบ 17 นิ้ว ที่มีไว้สำหรับวิ่งใช้งานบนถนนทางเรียบ หรือใช้ลุยในทางฝุ่นทางดินได้ในระดับหนึ่งโดยใช้ยางที่เป็นสเปคกึ่งออฟโร้ด แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่น Adventure จะถูกปรับเปลี่ยนชุดวงล้อให้เป็นล้อซี่ลวดที่สามารถให้ตัวได้ดีกว่า โดยจะมีล้อหน้าที่มีขนาดกว้างกว่าล้อหลังเป็นพิเศษตั้งแต่ 19 นิ้ว จนถึง 21 นิ้ เป็นส่วนใหญ่ และล้อหลังขนาด 17 นิ้ว และ 18 นิ้ว แล้วแต่สเปคที่จะให้มาของรถรุ่นนั้นๆ และเหตุผลที่ทำไมต้องเป็นล้อซี่ลวด ? ก็คือล้อซี่ลวดมีคุณสมบัติที่สามารถซับแรงกระแทกได้สูง และขนาดวงล้อหน้าที่เส้นผ่านศูนย์กลางมากเป็นพิเศษ จะช่วยให้การปีนป่ายหรือตะกรุยพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมการติดตั้งยางเม็ดข้าวโพดหรือที่เรารู้จักกัน คือ ยางวิบากที่มีดอกยางเหมือนหนาม เพื่อให้การขับขี่บนเส้นทางสุดระห่ำได้จัดหนักจัดเต็มนั่นเองครับ

 

ช่วงล่างและการควบคุม (Enduro)

KTM EXC 250

 

          จุดเด่นสุดของรถมอเตอร์ไซค์ Enduro ที่ไบค์เกอร์หลายๆ คนคงจะรู้ดีคือช่วงล่างที่มีประสิทธิภาพสูงที่พร้อมรองรับการใช้งานที่เจอแรงกระแทกหนักๆ โดยโช้คอัพหน้าและหลังของรถมอเตอร์ไซค์ Enduro จะมีขนาดแกนโช้คทีมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ พร้อมการปรับเซ็ทค่าคืนตัวยุบตัวมาอย่างแม่นยำ ควบคู่กับวงล้อซี่ลวดที่แข็งแรงเป็นพิเศษด้วยความกว้างของวงล้อหน้าที่แล้วแต่สเปคของรถแต่ละรุ่น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ขอบ 19 นิ้ว และ 21 นิ้ว เป็นหลัก ส่วนเส้นผ่านศูนย์กลางของวงล้อหลังจะอยู่ที่ขอบ 17 นิ้ว และ 18 นิ้ว แล้วแต่สเปคของรถรุ่นนั้นๆควบคู่กับสวิงอาร์มอลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง พร้อมรัดด้วยยางเม็ดข้าวโพดหรือที่เรียกกันว่ายางวิบากมาตั้งแต่โรงงาน พร้อมที่จะให้ผู้ขับขี่ตะลุยได้อย่างมั่นใจ 

 

เครื่องยนต์ (Adventure)

BMW R1250 GS

 

          มาถึงส่วนของเครื่องยนต์ในตัวรถมอเตอร์ไซค์ Adventure ที่มีตั้งแต่ 250 ซีซี. จนถึง 1,300 ซีซี. โดยจะเน้นความจัดจ้านของเครื่องยนต์ในรอบต้น เพื่อใช้ในการส่งกำลังได้อย่างต็มสูบ เมื่อเผชิญสถานการณ์บนเส้นทางที่ต้องใช้พละกำลังเครื่องยนต์ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการตะกุยดินโคลนจนไปถึงการไต่หรือปีนเขาที่สูงชัน และโดยส่วนใหญ่แล้วรถมอเตอร์ไซค์ Adventure จะมีรอบเรดไลน์เครื่องยนต์ที่ไม่สูงมาก เหตุเพราะการใช้งานหลักๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure ไม่ใช่การลากรอบสูงเพื่อทำความเร็วสูงสุด แต่จะเน้นพละกำลังแรงบิดที่สูงในรอบต้นและรอบกลางในเวลาเดินทางไกลได้อย่างนิ่มนวล หรือเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่ใช่ทางเรียบก็สามารถสั่งความแรงได้ทันใจและด้วยอีกหนึ่งเหตุผลที่เครื่องยนต์ของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure ไม่ได้ถูกปรับเซ็ทให้มีความแรงในรอบปลาย คือ รูปทรงและช่วงล่างที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับความเร็วสูงมากนัก ทำให้การปรับเซ็ทเครื่องยนต์ที่แรงในรอบต้น กลับกลายเป็นข้อดีของรถมอเตอร์ไซค์ Adventure คือ ความมันส์สุดขีดเมื่อผู้ขับขี่ได้ลองกระแทกคันเร่งหนักๆ สั่งได้ดั่งใจพร้อมตะกุยพื้นดินให้ฝุ่นฟุ้งกระจุยตามอารมณ์ไปเลยครับ

 

เครื่องยนต์ (Enduro)

Husqvarna FE 501

 

          ในส่วนของเครื่องยนต์ที่อยู่ในตัวรถมอเตอร์ไซค์ Enduro คงไม่ต้องพูดถึงความจัดจ้านที่ถูกฝังอยู่ใน DNA ที่มีทั้งเครื่องยนต์ 2 จังหวะ และ 4 จังหวะ โดยแทบจะทั้งหมดมีจำนวนลูกสูบไม่เกิน 2 ลูกสูบเท่านั้น เพราะตัวเครื่องยนต์ต้องสร้างแรงบิดอันมหาศาลในรอบต้นเพื่อให้เข้ากับการใช้งานบนพื้นที่ที่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์ช่วยในการตะกุยตะกายเข้าไปไม่ว่าจะเป็น พื้นทราย ดินโคลน จนไปถึงหินผาที่สูงชัน แต่ถ้าพูดถึงการทำความเร็วสูงในรอบปลายของรถมอเตอร์ไซค์ Enduro อาจไม่ตอบโจทย์ในจุดนี้มากนัก เนื่องด้วยจุดประสงค์การใช้งานหลักๆ ของ Enduro คือ เป็นรถมอเตอร์ที่ใช้งานในสถานการณ์และสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยกับการใช้ความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นไร่นา ป่าเขา ลงห้วย แต่ถ้าในเรื่องของการใช้แรงบิดเพื่อการตะลุยทางวิบากแล้วล่ะก็เจ้า Enduro ทั้งหลาย คือ พระเอกตัวจริงเลยครับ

 

BMW R1200 GS

 

Yamaha WR250F

 

          เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับความแตกต่างที่มากกว่ารูปทรงภาพนอกระหว่าง Adventure กับ Enduro ที่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ใกล้เคียงกันสุดๆ ถึงแม้จะมีรูปทรงที่ห่างกันคนละไซส์ก็ตาม สำหรับสายลุยท่านใดที่ยังงงและแยกไม่ออกระหว่างรถ 2 ประเภทนี้ ทาง BoxzaRacing ได้คลี่คลายข้อสงสัยให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ ครั้งหน้า BoxzaRacing ในคอลัมน์ความรู้เรื่องรถจะนำเรื่องราวและเกร็ดความรู้ดีๆ เรื่องไหนมาฝากกันอีก รอติดตามกันได้เลยครับที่ www.BoxzaRacing.com สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน...สวัสดีครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook