เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 11 ธันวาคม 2561 - 09:40

โช้กอัพกับ Preload, Compression และ Rebound ค่าเหล่านี้คืออะไร สำคัญอย่างไรในการเพิ่มสมรรถนะบิ๊กไบค์

 

           Bigbike กับเรื่องของความเร็ว แรง ด้วยสมรรถนะที่สูงส่ง เป็นสิ่งที่มาคู่กันทุกยุคทุกสมัย ด้วยเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ ให้พละกำลัง แรงม้าที่มากกว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วๆ หรือมากกว่ารถยนต์หลายๆ รุ่น บวกกับน้ำหนักที่เบาโดยเฉลี่ยที่ราว 2xx กก. ส่งผลให้ตัวรถมีอัตราส่วนระหว่างพละกำลัง : ทีี่ค่อนข้างเหนือชั้น ซึ่งด้วยกำลังที่สูงของรถ Bigbike ทำให้องค์ประกอบต่างๆ นั้น ควรได้รับการติดตั้งมาอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถรองรับกับกำลังที่มีอัตราส่วนค่อนข่้างสูง เช่น ระบบเบรก รวมถึงช่วงล่าง ที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว

 

 

            หลังจากที่ครั้งก่อนเราได้พูดถึงเรื่องของระบบเบรกที่มาในรูปแบบ Radial Mouth กันไปแล้ว คอลัมน์ความรู้เรื่องรถในครั้งนี้ จะขออธิบายเรื่องของช่วงล่างกันบ้าง โดยชิ้นส่วนหนึ่งที่ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในระบบช่วงล่างก็คือ โช้กอัพ ที่มีรูปแบบอันหลากหลาย และค่าการทำงานต่างๆ ให้เซ็ตมากมาย แล้วชาวไบค์เกอร์เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ค่าต่างๆ ที่สามารถปรับตั้งได้ในโช้กอัพ ไม่ว่าจะเป็นค่า Preload, Rebound, Compression รวมถึงค่าความสูงของตัวโช้กอัพนั้น คือ ค่าอะไรกันบ้าง การปรับแต่ละค่านั้น ปรับเพื่ออะไร วันนี้ BoxzaRacing มีคำตอบให้ชาวไบค์เกอร์แน่นอนครับ

 

การปรับพรีโหลด ทำเพื่อหาระยะยุบที่เหมาะสมตามน้ำหนักผู้ขับขี่ (และผู้ซ้อน + สัมภาระ)

 

ตัวอย่างการวัดค่า Sag เพื่อเซ็ตโช้กอัพ

 

            เริ่มจากค่าแรกที่บิ๊กไบค์โดยส่วนใหญ่สามารถปรับค่านี้ได้ นั่นก็คือ ค่า Preload ที่เป็นการปรับค่าแรงที่มากระทำกับสปริงตามน้ำหนักของผู้ขับขี่ (หรือผู้ขับขี่ + ผู้ซ้อน + สัมภาระ) โดยดูความเหมาะสมจากระยะ Sag (ระยะที่โช้กอัพยุบตัว) ซึ่งการปรับระยะ Sag เพื่อให้ได้ค่าที่ต้องการก็คือ การขันเพื่อบีบสปริงให้แข็งขึ้น หรือคลายเพื่อให้สปริงยืดตัวจนสามารถยุบตัวได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

ในโช้กอัพแต่งหลายๆ รุ่น สามารถปรับความสูง - ต่ำ ของโช้กได้เล็กน้อย

 

            ค่าความสูงของโช้กอัพ เรียกได้ว่าเป็นฟังค์ชั่นอันที่ต้องการของผู้ขับขี่ที่มีรูปร่างต่างกันออกไป เช่น ผู้ขับขี่ที่มีสรีระที่ไม่สูงมากนัก หรือผู้ขับขี่ที่มีความสูงมากๆ ซึ่งการปรับค่านี้จะช่วยกำหนดความสูงของบิ๊กไบค์คันเก่งให้อยู่ในระดับที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั่วๆ ไปอยู่ที่ประมาณ +- 1 ซม. โดยฟังค์ชั่นนี้ ส่วนใหญ่จะมากับโช้กอัพที่เป็นของแต่งเสียมากกว่า

 

Compression ยิ่งมาก โช้กก็จะยิ่งยุบตัวได้ช้าลง

 

สำหรับบิ๊กไบค์บางรุ่นที่มาพร้อมโช้กอัพไฟฟ้า สามารถปรับค่าต่างๆ ได้ผ่านหน้าจอแสดงผล

 

            การยืด – ยุบ ถือว่าไฮไลท์สำคัญในการทำงานของโช้กอัพเลยก็ว่าได้ ซึ่งการยืด – ยุบ (หรือที่ไบค์เกอร์ส่วนใหญ่นิยมเรียกแบบเหมาะรวมว่าความหนืดของโช้ก) ที่เร็วหรือช้านั้น มีผลโดยตรงจากการปรับเซ็ตค่า Compression และ Rebound ที่จะเป็นตัวหน่วงการยุบและคืนตัวของสปริง ซึ่งค่า Compression ก็คือ ความหนืดในการยุบของตัวโช้กอัพ โดยโช้กอัพจะยุบตัวเร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับค่านี้นั่นเอง หากปรับค่า Compression ของโช้กอัพมาก โช้กอัพก็จะยิ่งยุบตัวช้า และหากปรับค่า Compression น้อยลง ตัวโช้กอัพก็จะยุบตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งสำหรับโช้กอัพรุ่นสูงๆ บางแบรนด์ จะสามารถแยกการปรับค่า Compression ได้หลากหลายมากขึ้น ทั้ง Compression ในจังหวะการยุบของโช้กอัพด้วยความเร็วต่ำ และ Compression การยุบตัวของโช้กอัพด้วยความเร็วสูง ในทางตรงกันข้าม ค่า Rebound เป็นค่าที่หน่วงในการคืนตัวของโช้กอัพ ซึ่งโช้กจะคืนตัวเร็ว (Rebound น้อย) หรือช้า (Rebound มาก) ก็อยู่ที่ค่า Rebound นี้เอง

 

 

             โช้กอัพกับค่าต่างๆ ที่สามารถปรับตั้งได้ ไม่ใช่เรื่องยากหากทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งในครั้งหน้า BoxzaRacing จะลงลึกในรายละเอียดถึงการ DIY ปรับเซ็ตโช้กอัพในรูปแบบต่างๆ ที่ให้ผลที่แตกต่างกันออกไป ทุกท่านสามารถติดตามกันได้ในเร็วๆ นี้ครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook