เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 2 มกราคม 2562 - 18:38

Bigbike กับสารพัดค่า น้ำหนัก บาลานซ์ ฐานล้อ ความสูง ย่านกำลัง ส่งผลต่อการขับขี่อย่างไร

 

          บิ๊กไบค์ รถมอเตอร์ไซค์ในฝันสำหรับใครหลายๆ คน แบ่งออกเป็นหลายประเภท หลายรูปแบบตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กไบค์ในรูปแบบสปอร์ต, เนคเก็ตไบค์, สปอร์ตทัวริ่ง, แอดเวนเจอร์ทัวริ่ง, สกู๊ตเตอร์ หรือแม้แต่บิ๊กไบค์สไตล์คลาสสิค ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละรูปแบบนั้น ย่อมมีสไตล์การออกแบบ วัสดุที่ใช้ และพื้นฐานด้านวิศวกรรมที่แตกต่างกันออกไปด้วย

 

Bigbike แต่ละคันนั้น ย่อมจะมีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวเสมอ

 

            เคยสงสัยบ้างไหมครับว่า มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์หลายๆ คันนั้น แม้จะมีตัวเลขต่างๆ เช่น น้ำหนัก, ความสูง หรือแรงม้า ที่ใกล้เคียงกัน แต่เรื่องของฟีลลิ่งการขับขี่นั้นต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง แล้วเพราะอะไร ถึงทำให้ฟีลลิ่งนั้นมีความแตกต่างกันออกไป วันนี้ BoxzaRacing จะมาไขปริศนาเหล่านี้ให้รู้ กับเรื่องจริง...ที่ไม่น่าจริง ของค่าต่างๆ ที่ส่งผลต่อการขับขี่รถบิ๊กไบค์ ว่าแล้ว...ไปชมพร้อมๆ กันเลยครับ

 

โครงสร้างตัวรถ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บุคลิกของบิ๊กไบคืแต่ละคันนั้นต่างไป

 

 

           สิ่งแรกที่หลายๆ คนสงสัย คงหนีไม่พ้นเรื่องของน้ำหนัก บิ๊กไบค์บางคันหนักกว่า 2xx กก. แต่ให้ฟีลลิ่งที่คล่องตัวมากกว่ารถที่มีน้ำหนักเบากว่า (โดยส่วนใหญ่จะรู้สึกได้ในรถสปอร์ตหรือเนคเก็ตไบค์รุ่นบนๆ ที่น้ำหนักตัวมาก แต่ขึ้นคล่อมแล้วไม่รู้สึกว่ารถหนักอย่างที่ตัวเลขเคลมเอาไว้) แต่กับบางรุ่นนั้นดูเหมือนจะเบา แต่เอาเข้าจริงๆ ต้องออกแรงในการคอนโทรลรถมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในทำนองนี้ก็คือ การวางบาลานซ์ของตัวรถ กำหนดตำแหน่งการวางน้ำหนักต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น รถที่มีน้ำหนักเท่ากัน แต่คันหนึ่งวางเครื่องยนต์ (หนึ่งในหน่วยที่มีน้ำหนักมากที่สุดในรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน) ในตำแหน่งสูง แต่อีกคันหนึ่งวางเครื่องยนต์อยู่ในระดับต่ำกว่า ด้ายน้ำหนักที่อยู่ในจุดที่ต่ำกว่านั้นเอง ช่วยให้รถคันนั้นๆ มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงตามไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องของบาลานซ์ของตัวรถที่มีผลให้ฟีลลิ่งการควบคุมนั้นแตกต่างกันออกไป ซึ่งรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ จะช่วยให้การพลิกรถทำได้โดยง่าย ไม่ต้องออกแรงโหนเยอะในยามเข้าโค้ง โดยเฉพาะในโค้ง S ที่ต้องเปลี่ยนทิศทางการโหนอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งหากได้รับการกำหนดจุดวางที่เหมาะสม ก็ย่อมจะส่งให้มอเตอร์ไซค์คันนั้นๆ ขี่ง่ายและคอนโทรลได้อย่างเชื่องมือมากยิ่งขึ้น หรือหากจะสรุปง่ายๆ เลยก็คือ ตำแหน่งในการวางน้ำหนัก ส่งผลโดยตรงต่อฟีลลิ่งการขับขี่

ระยะฐานล้อที่ต่างกัน ฟีลลิ่งการขับขี่นั้นย่อมต่างกันไปด้วย

 

Yamaha MT-10 หนึ่งในรถที่น้ำหนักไม่น้อย แต่ให้ฟีลลิ่งที่เป็นมิตรและคล่องตัวอย่างเหลือเชื่อ

 

               ฐานล้อ (ระยะห่างระหว่างกึ่งกลางล้อหน้ากับล้อหลัง) ก็มีผลต่อฟีลลิ่งและความคล่องตัวในการขับขี่เช่นเดียวกัน มอเตอร์ไซค์บางคัน แม้จะมีน้ำหนักโดยรวมที่เบา แต่หากมีจุดรวมน้ำหนักที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า และมีระยะฐานล้อที่ยาวกว่า ก็ย่อมจะเป็นไปได้ที่ความคล่องตัวอาจเป็นรองรถที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่วางเครื่องยนต์อยู่ในบาลานซ์ที่เหมาะสม และมีฐานล้อที่สั้นกว่า โดยยิ่งฐานล้อสั้น การพับหรือพลิกซ้ายพลิกขวาของตัวรถยิ่งทำได้เร็ว ให้ความรู้สึกคล่องตัวในการขับขี่ แต่ในเรื่องของความมั่นคงในการขับขี่ที่ย่านความเร็วสูงนั้น อาจเป็นรองรถที่มีระยะฐานล้อที่ยาวกว่า หรือมีน้ำหนักมากกว่า ตามไปด้วย ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยรถในตระกูล MT Series จากค่ายส้อมเสียงล่ะกันครับ เชื่อได้เลยว่าหลายๆ คนที่เคยขี่มาแล้วทั้ง MT-07, MT-09 และ MT-10 จะต้องทึ่งในความคล่องตัวอย่างไม่น่าเชื่อของรุ่นใหญ่ในตระกูลอย่างเจ้า MT-10 แน่นอน แม้ว่า MT-10 จะมีน้ำหนักมากกว่าเพื่อน (210 กก.) แต่เรื่องของความคล่องตัว และความง่ายในการคอนโทรลนั้นไม่เป็นรอง MT-07 ที่มีน้ำหนักเพียง 182 กก. เลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เป็นเพราะระยะฐานล้อที่ 1400 มม. เท่ากัน และการวางบาลานซ์ของ MT-10 (ที่ใช้พื้นฐานมาจาก YZF-R1) ทำได้อย่างยอดเยี่ยม มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำในสไตล์ของรถสปอร์ต ซึ่งส่งผลให้ฟีลลิ่งการขับขี่นั้นมีความโดดเด่นจนสามารถสัมผัสได้ในครั้งแรก แถมยังได้ความมั่นคงในความเร็วสูงด้วยน้ำหนักตัวรถที่มากกว่าด้วย

 

จะเตี้ย จะสูง...ไม่ใช่ปัญหา หากใช้งานจนเกิดความเคยชิน

 

              ความสูงของบิ๊กไบค์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักบิดหน้าใหม่มักจะเป็นกังวล หลายๆ คนมักจะมีคำถามในใจว่า รถที่สูงขนาดนี้ ตัวเองจะขาถึงไหม จะขี่ได้ไหม ? ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องของความสูงมันไม่ใช่แค่ตัวเลขที่แสดงไว้ในโบรชัวร์เพียงอย่างเดียว รถหลายๆ รุ่นมีค่าความสูงเบาะที่แสดงไว้ค่อนข้างมาก แต่พอลองคร่อมจริงๆ แล้ว กลับไม่รู้สึกว่าสูง สามารถวางเท้าได้อย่างมั่นใจ แต่กับบางคัน ตามสเปคไม่ได้สูงอะไรมากมายเลย แต่กลับไม่สามารถวางได้แบบเต็มพื้น สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะ นอกจากเรื่องของความสูงเบาะจากพื้นแล้ว ความกว้างของตัวเบาะ ก็มีผลไม่แพ้กัน รถบางคันสูงไม่มาก แต่เบาะกว้างมาก (พบได้บ่อยในบรรดามอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์) ทำให้ขาต้องกางมากตามความกว้างของเบาะ ส่งผลให้ไม่สามารถวางบนพื้นได้แบบเต็มเท้าเป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องความสูงเป็นเรื่องที่พูดยาก ด้วยความละเอียดอ่อนด้านความชอบและทักษะของนักบิดแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวแนะนำว่า ขี่บ่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับตัวรถอย่างต่อเนื่อง แล้วสักวันหนึ่ง...ความรู้สึกกลัวเรื่องความสูงของตัวรถจะหายไป ไม่ช้า...ก็เร็ว

 

 

             แรงม้า หรือ กำลังสูงสุด เป็นสิ่งที่ไบค์เกอร์มือใหม่หลายคนให้ความสนใจ จนลืมนึกถึงคำว่า ย่านกำลัง ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว มีผลต่อความสนุกในการขับขี่มากกว่าเสียอีก แน่นอนว่า...รถที่ทำแรงม้าได้สูง อาจทำให้คุณขี่ได้เร็ว แต่รถที่ให้แรงม้าสูงสุดในย่านกำลังที่เหมาะสม จะทำให้คุณขี่รถได้อย่างสนุกและไม่เหนื่อย ลองนึกภาพง่ายๆ หากคุณเอารถสปอร์ตทัวริ่งเครื่องหกแรงครึ่งแรงม้า 90 กว่าตัว ไปวิ่งกับรถคลาสสิคสองสูบเครื่องใหญ่กว่าเกือบครึ่ง แต่แรงม้าน้อยกว่านิดนึง สิ่งที่คุณจะได้จากรถคลาสหกแรงครึ่งคือ ความเร็วแบบต้องลุ้นกันยาวๆ แต่สิ่งที่รถคลาสสิคให้ได้คือ ความสนุกจากแรงบิดและย่านกำลัังในรอบต่ำที่พร้อมให้คุณทะยานได้ทันทีที่บิดคันเร่งเบาๆ และนี่คือ สิ่งที่เรียกว่า "ความต่าง" ซึ่งหากยังไม่เข้าใจ ครั้งหนึ่ง BoxzaRacing เคยอธิบายไปแล้วอย่างละเอียดใน  คลายข้อสงสัย ทำไม Supersport 600 ซีซี. ทำแรงม้าได้เยอะกว่ารถแนวอื่นๆ ในพิกัดที่สูงขึ้น

 

 

            Bigbike แต่ละคันย่อมมีคาแร็กเตอร์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปตามองค์ที่กล่าวมาในข้างต้น ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ความชอบส่วนบุคคลของผู้ขับขี่ว่าอยากได้รถบิีกไบค์ในรูปแบบได้ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ยังไงแล้ว...BoxzaRacing ขอให้ทุกท่านมีความสุข และขับขี่อย่างปลอดภัยเป็นที่ตั้งครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook