เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 8 พฤศจิกายน 2561 - 15:35

Bigbike คลายข้อสงสัย ทำไม Supersport 600 ซีซี. ทำแรงม้าได้เยอะกว่ารถแนวอื่นๆ ในพิกัดที่สูงขึ้น

 

           Bigbike จัดว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน ด้วยภาพลักษณ์ที่มีความโดดเด่น บวกกับขุมพลังที่แรงเร้าใจ สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ขับขี่ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบัน Bigbike มีให้เลือกกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถในคลาส Supersport, Naked Bike, Sport Touring Bike รวมถึงรถในแนว Adventure Touring

 

Supersport มิดเดิ้ลคลาส หนึ่งในรถที่มีอัตราส่วน แรงม้า : ซีซี. สูงที่สุด

 

              ด้วยความที่บิ๊กไบค์มีให้เลือกกันหลากหลายประเภท เชื่อว่ามีหนึ่งคำถามที่หลายๆ คนสงสัย ว่าทำไมบิ๊กไบค์ในรูปแบบ Supersport มิดเดิ้ลคลาส หรือพวกตระกูล 600 ซีซี. ทั้งหลาย จึงสามารถทำแรงม้าได้สูงกว่าบิ๊กไบค์ในรูปแบบอื่นๆ ที่มาในขนาดความจุเครื่องยนต์เท่าๆ กันหรือสูงกว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วมันแรงกว่าจริงหรือ ย่านกำลังแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน ในครั้งนี้ BoxzaRacing มีคำตอบให้ชาวไบค์เกอร์แน่นอนครับ

 

 

              ก่อนอื่นเราขอพูดถึงวัตถุประสงค์ในการออกแบบรถบิ๊กไบค์ในสไตล์ Supersport กันก่อน แน่นอนว่ารถประเภทนี้ออกแบบมาให้เหมาะสมกับการขับขี่ในสไตล์สปอร์ตขนานแท้ หรือแม้แต่การแข่งขันที่ต้องใช้ความเร็วสูง ด้วยท่วงท่าในการนั่งที่ค่อนข้างหมอบด้วยตำแหน่งแฮนด์ที่กดต่ำ มีความกระชับรับกับสรีระผู้ขับขี่ที่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวรถ เพื่อให้การขับขี่ในโค้งที่ความเร็วสูงสามารถทำได้อย่างมั่นใจ จัดท่าทางในการเข้าโค้งได้ง่าย ก้มหลบลมปะทะได้สะดวก ซึ่งแน่นอนว่ากับการขับขี่ในความเร็วสูงนั้น เครื่องยนต์ก็ต้องพร้อมปลดปล่อยพละกำลังที่สูงขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บิ๊กไบค์ในสไตล์ Supersport มีแรงม้าที่สูงกว่าบิ๊กไบค์ในรูปแบบอื่นๆ 

 

รอบเครื่องยนต์...ของต้องมีในรถ Supersport Middle Class

 

              ด้วยวัตถุประสงค์ข้างต้น ทำให้เครื่องยนต์ของบิ๊กไบค์ในสไตล์ Supersport ต้องผลิตกำลังในรอบสูงมากขึ้นไปด้วย ซึ่งสำหรับ Supersport ในคลาส 600 ซีซี. หากเราๆ ท่านๆ เคยสังเกตคงพอทราบว่า รถเหล่านี้ แม้จะให้กำลังสูง แต่ก็มีเงื่อนไขว่ากำลังที่สูงนั้น ย่อมมาในรอบสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเครื่องยนต์มีความจุเพียง 600 ซีซี. ลองยกตัวตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น Kawasaki Ninja ZX-6R มาพร้อมกำลังสูงสุดถึง 130 แรงม้า ที่ 13,500 รอบ/นาที แรงบิด 74 นิวตัน-เมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที, Yamaha YZF-R6 ปั่นกำลังได้ถึง 118.4 แรงม้า ที่ 14,500 รอบ/นาที แรงบิด 65.7 นิวตัน-เมตร ที่ 10,500 รอบ/นาที ซึ่งเมื่อเทียบกับเนคเก็ตไบค์ในค่ายอย่าง Kawasaki Z900 ที่มาพร้อมความจุ 948 ซีซี. ให้กำลังน้อยกว่า คือ 125 แรงม้า แต่ก็สามารถเรียกมาใช้งานได้ในรอบที่ต่ำกว่าเพียง 9,500 รอบ/นาที เท่านั้น พร้อมแรงบิดสูงสุด 98.6 นิวตัน-เมตร ที่ 7,700 รอบ/นาที เช่นเดียวกับ Yamaha MT-09 ที่มาพร้อมความจุ 847 ซีซี. กับแรงม้า 115 ตัว ที่ 10,000 รอบ/นาที แรงบิด 86.7 นิวตัน-เมตร ที่ 8,500 รอบ/นาที แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

 

วาล์วไทเทเนียม เครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้ สำหรับรถที่ใช้งานรอบสูงเป็นหลัก

 

              การออกแบบเครื่องยนต์ของบิ๊กไบค์ในสไตล์ Supersport 600 ซีซี. มีความพิเศษในเรื่องของวัสดุที่เลือกใช้ ซึ่งต้องทนทานต่อการหมุนในรอบสูง (กว่ารถในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงรถ Supersport ในคลาสที่สูงกว่าด้วย) เช่น การใช้วัสดุไทเทเนียมมาเป็นส่วนประกอบในบางจุด นอกจากนี้ยังต้องปรับรายละเอียดหลายๆ รายการ เช่น องศาแคมชาฟต์ที่เน้นการสร้างกำลังในรอบสูงโดยเฉพาะ, ช่องพอร์ตไอดี-ไอเสียออกแบบมาเป็นพิเศษให้มี Flow Rate ที่สูง รวมถึงการปรับโปรแกรมในกล่อง ECU ที่ต้องมีความสอดคล้องกับองค์ประกอบในทุกๆ ส่วน เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถผลิตแรงม้าได้ตามต้องการอย่างยั่งยืน นั่นส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเครื่องยนต์ของบิ๊กไบค์ในสไตล์ Supersport นั้น สูงขึ้นตามไปด้วย

 

ขี่ในสนาม Supersport กินขาดด้วยความเร็วที่ต่อเนื่อง เลี้ยงรอบสูงได้ตลอดเวลา

 

ขี่ถนน...รถที่มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ ได้เปรียบกว่าเห็นๆ

 

            แล้ว Supersport คลาส 600 ซีซี. แรงกว่ารถในรูปแบบอื่นๆ ที่ความจุสูงกว่าหรือไม่ ? คำตอบคือ ไม่เสมอไป เพราะความแรงนั้น ไม่ได้วัดกันแค่เลขแรงม้าเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ที่เงื่อนไขในการใช้งานด้วย ซึ่งหากจะบอกว่า Supersport คลาส 600 ซีซี. มี "ความเร็ว" มากกว่า "ความแรง" ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะแน่นอนว่าหากขี่ในสนามที่ใช้ความเร็วต่อเนื่อง ลากรอบสูงได้ตลอด Supersport คลาส 600 ซีซี. นั้นเร็วกว่าพวกรถ Naked Bike ที่เคริื่องใหญ่กว่าแน่ๆ (ในกรณีที่ความสามารถของผู้ขับขี่เท่ากัน) แต่ในทางกลับกัน "แรงบิดไม่เคยโกหกใคร" จะมากจะน้อย ก็ว่ากันไปตามความจุของเครื่องยนต์ แทบจะไม่สามารถโกงหรือเสกขึ้นมาได้ (ย้อนกลับไปดูตัวเลขแรงบิดที่พูดถึงไปข้างต้น) สิ่งนี้แหละที่เรียกว่า "ความแรง" ไม่ใช่ "ความเร็ว" ซึ่งแรงบิดเป็นตัวชี้วัดอัตราเร่งของรถคันนั้นๆ ว่าสามารถทำได้โดดเด่นขนาดไหน ซึ่งรถที่ยิ่งทำอัตราเร่งได้ดี โดยสากลเรียกกันว่ารถที่ "แรง" นั่นเอง หากนำมาใช้งานบนถนน รถที่มีอัตราเร่งหรือแรงบิดที่เหนือกว่า และสามารถเรียกมาใช้งานได้ในรอบที่เร็วกว่า ออกไฟแดงพร้อมกัน...ย่อมได้เปรียบกว่าแน่นอน

 

2 รถ Supersport คลาส 600 ซีซี. ที่กระแสกำลังร้อนแรงในบ้านเรา

 

              ความเร็ว กับ ความแรง แม้จะดูคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วต่างกันอย่างที่ BoxzaRacing ได้อธิบายไปแล้ว ซึ่งแม้ว่ารถ Supersport คลาส 600 ซีซี. จะให้แรงม้าที่สูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแรงกว่าเสียทีเดียว ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเลือกบิ๊กไบค์คู่ใจสักคัน ควรจะพิจารณาในหลายๆ องค์ประกอบ ซึ่งหากคำตอบในใจคุณคือ คำว่า...ชอบในสิ่งนี้ ก็จัดได้เลย 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook